คาถา 7 ข้อ 

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

 

นั่งอ่านหนังสือเรื่อง “เมื่อหัวว่าง จึงสร้างสรรค์” ที่เขียนโดย “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” แล้ว รู้สึกว่าน่าจะนำเกร็ดบางเรื่องที่เขาเขียนมาคิดต่อ โดยเฉพาะกับชื่อหนังสือ เพราะผมเองก็มักเป็นเช่นนั้น

แต่อาจไม่ได้สร้างสรรค์เท่าเขา

แค่คิดออก

คิดว่าดีที่สุดแล้ว

ต่อจากนั้น ผมก็รีบหาปากกาจดไว้กันลืม แต่พอคิดอะไรได้ดีกว่าเก่า ผมก็รีบจดอีก ซึ่งเป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง แต่ถามว่าดีจริง ๆ ที่พอจะนำไปใช้ในการทำอะไรต่อมั้ย น้อยครั้งมาก

“กวีวุฒิ” บอกว่า เขาถูกน้อง ๆ นักศึกษาที่ไปสอนตามมหา’ลัยถามอยู่บ่อยครั้งว่าจะทำธุรกิจอะไรดี ?

เขาจึงให้คาถาไป 7 ข้อ

หนึ่ง ใครที่คุณอยากแก้ปัญหาให้เขา

สอง อะไรคือปัญหาของคนคนนั้น

สาม ขนาดของปัญหาใหญ่แค่ไหนในสังคมโลกใบนี้

สี่ ใช้อะไรในการบรรเทาปัญหาเหล่านั้น

ห้า จะเสนอนวัตกรรมอย่างไร

หก อะไรคืออุปสรรคจนทำให้ล้มเหลว

เจ็ด ต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการหยุดยั้งปัญหา

ซึ่งผมอ่านคาถาของเขาทั้ง 7 ข้อ รู้สึกว่าถ้าใครอยากจะทำธุรกิจจริง ๆ อาจจะนำไปใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้ เพราะคำอธิบายของเขาบางอย่างเข้าใจยาก แต่ก็ไม่ถึงกับที่จะพยายามไม่เข้าใจ

พูดง่าย ๆ คือสามารถเข้าใจได้

โดยเฉพาะข้อ 7 ที่เขาพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า การทำธุรกิจอะไรสักอย่างจะต้องมี “ต้นแบบ” หรือ “prototype” ในภาษาอังกฤษ และ “ต้นแบบ” จะต้องผ่านการทดสอบ ทดสอบ และก็ปรับ ปรับ ปรับ

ด้วยการนำไปให้เพื่อนสนิทชิม ใช้ และทดลอง เพื่อให้พวกเขา “ตำหนิอย่างสร้างสรรค์” ในการนำมาแก้ไข ข้อผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ ไม่มีข้อตำหนิเลยยิ่งดี

ผมอ่านแล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องดี

เพราะถ้าเราอ่านบทสัมภาษณ์ ดูรายการโทรทัศน์บางรายการที่สัมภาษณ์นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เรามักจะพบว่าพวกเขาเริ่มต้นจากการทำอะไรไปให้เพื่อนชิม ใช้ และทดลองก่อน

จากนั้นถ้าเพื่อน ๆ เห็นว่าดี อร่อย และน่านำไปใช้ให้กับตัวเอง และครอบครัว เขาจะเปลี่ยนจาก “ใช้ฟรี” มา “ช่วยเหลือเพื่อน” แทน

ถ้าสมมุติเขามีเพื่อนสนิท 10 คน ก็จะมีเพื่อนช่วยเหลือ 10 คน แต่ถ้าเขามีเพื่อนอื่น ๆ ในเฟซบุ๊กอีก 100 คน ใน 100 คนอาจจะซื้อสินค้าของเขาสัก 20-30 คนก็เป็นไปได้

แต่อย่างน้อยใน 70-80 คนที่เหลือก็ถูกรับรู้ผ่านโลกเสมือนจริง ๆ ไปแล้วว่า “นายเอ” หรือ “นางสาวบี” ทำอะไรอยู่

ขอเพียงให้ “ต้นแบบสินค้า” ของเราดีจริง ๆ

ถูกทดสอบ และปรับ ปรับ ปรับจริง ๆ จนเห็นแล้วว่าสินค้าของเราถูกการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในที่สุดสินค้าเหล่านั้นจะถูกบอกต่อ จนกลายเป็นกลยุทธ์ปากต่อปาก กระทั่งทำให้สินค้าของเราเป็นที่ต้องการของตลาด

ผมว่านักธุรกิจรุ่นใหม่หลายคนใช้วิธีนี้ค่อนข้างเยอะ และหลายคนประสบความสำเร็จ แม้พวกเขาอาจจะเรียนหนังสือมหา’ลัย หรืออยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัยทำงาน เพราะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เขาไม่ทำอาชีพเดียวอีกต่อไปแล้ว

แต่จะทำถึง 2-3 อาชีพ

หรือบางคนแค่ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในการ “รับ” และ “ส่ง” สินค้าเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้

ยิ่งถ้าคนคนนั้นพูดภาษาอังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น หรืออาหรับ อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เขาจะขายสินค้าไปได้ทั่วโลก  ซึ่งโอกาสอย่างนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน โดยเฉพาะกับคนรุ่นเก่า แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ โอกาสอย่างนี้ไม่ได้ยากเย็นสำหรับพวกเขาเลย

ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

ขอให้เขา “กล้า” ที่จะทำ, ทดสอบ และปรับ ปรับ ปรับจริง ๆ เขาก็จะประสบความสำเร็จในที่สุด

แต่กระนั้นจะต้อง “หัวว่าง” ด้วย เพราะ “ความคิดสร้างสรรค์” จะออกมา

พร้อมกันนั้น “กวีวุฒิ” ยกตัวอย่างบริษัทกูเกิลที่ให้เวลา 20% กับพนักงาน เพื่อเลือกทำในสิ่งที่ชอบ หรือบริษัท ไอดีโอ ที่ “สตีฟ จ็อบส์” ชื่นชอบ เขาก็จะมีครัวอยู่ตรงกลาง

เพราะเขาเชื่อว่าถ้าคนเราไม่ต้องทำงานประจำนาน ๆ บางทีความคิดสร้างสรรค์จะออกมา คล้าย ๆ กับตอนเราอาบน้ำ สระผม จู่ ๆ เราก็คิดไอเดียอะไรใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งผมเองก็เป็นนะ

แต่แค่คิดออก

ยังไม่ถึงกับเป็นความคิดสร้างสรรค์

ในที่สุดก็เลยยังเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่จนทุกวันนี้ (ฮา)

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!