ศึกชิง “ดิวตี้ฟรี” สุวรรณภูมิ ใครคิดผิด (ยัง) มีเวลาคิดใหม่?

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

เผยโฉมหน้ากันแล้วสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูล “ดิวตี้ฟรี” สนามบินสุวรรณภูมิ

เรียกว่า นับจากนี้เป็นต้นไปทุกค่ายสามารถประเมินกำลัง “คู่แข่ง” ได้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะ “ขุมกำลัง” ของพันธมิตรแต่ละค่ายที่เข้ามาเสริมทัพให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ใจสู้ เงินถึง มีความแข็งแกร่งในธุรกิจดิวตี้ฟรี

เพราะหากไม่นับ “คิง เพาเวอร์” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมแล้ว ค่ายอื่น ๆ ที่เข้าซื้อซองประมูลล้วนเป็น “หน้าใหม่” และยังมีประสบการณ์ด้านการบริหารดิวตี้ฟรีไม่มากนัก

จึงเชื่อว่านับจากนี้ทุกค่ายคงต้องเตรียมการกันเต็มพละกำลังเพื่อลงสนามแข่งชิงแชมป์โอลิมปิกในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 นี้ ซึ่งเป็นวันที่ผู้เข้าประมูลทุกรายต้องยื่นเสนอซองประมูล

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มผู้เข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดุเดือด” ระดับที่เรียกว่า “ช้างชนช้าง” กันหลายเชือกเลยทีเดียว แถมยังเตรียมทุ่มกันไม่ยั้ง

เพราะตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา “คิง เพาเวอร์” ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าขุมทรัพย์ดิวตี้ฟรี “สุวรรณภูมิ” นั้นมีมูลค่ามหาศาลแค่ไหน

แต่การที่บริษัทหนึ่งบริหารแล้วประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ปีละหลายหมื่นล้านบาทนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่เข้ามาบริหารจะประสบความสำเร็จและสร้างรายได้มหาศาลเช่นนั้นได้เสมอไป

ที่บอกเช่นนี้ก็เพราะว่า ผู้เขียนเองในฐานะเป็นสื่อที่ติดตามข้อมูลการประมูลครั้งนี้มองว่ายังมีหลายประเด็นที่ผู้เข้าประมูลบางรายหยิบยกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะยังผิดเพี้ยนและไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของธุรกิจ

โดยเฉพาะประเด็น “ผลตอบแทน” ที่บอกว่า เอกชนควรเสนอให้รัฐในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 35-40% ตามหลักเกณฑ์ของสนามบินประเทศอื่น ๆ ที่เขาทำกัน โดยมองว่าผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีไม่มีต้นทุนด้านการก่อสร้างอาคาร เพราะ ทอท.ก่อสร้างอาคารไว้รอแล้ว และที่สำคัญผู้รับสัมปทานก็มีต้นทุนในเรื่องการทำการตลาด เพราะรัฐบาลทำหน้าที่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่แล้ว

แล้วก็สรุปเอาเองว่า “ดิวตี้ฟรี” เป็นธุรกิจที่มีกำไรมหาศาล หอมหวน เย้ายวน น่าลงทุน

กูรูด้านการบริหารธุรกิจดิวตี้ฟรีรายหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า การบริหารธุรกิจ ดิวตี้ฟรีนั้นต้องมีความเป็นสเปเชียลลิสต์ต้องใช้ทั้งข้อมูลเชิงสถิติ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญพิเศษ เพราะหลักการบริหารธุรกิจดิวตี้ฟรีต่างจากการบริหาร “ห้างสรรพสินค้า” หรือธุรกิจรีเทลอย่างสิ้นเชิง

ยกตัวอย่างเช่น ที่เราเห็นว่ามีแบรนด์เนมต่าง ๆ เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่นั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่รับสิทธิบริหารดิวตี้ฟรีจะเอาเข้ามาขายเองได้ แต่ทั้งหมดบริษัทแม่ทำตลาดเอง กำหนดราคาขายเองทั้งนั้น ผู้ได้รับสัมปทานเป็นเพียงแค่ตัวกลางติดต่อให้เข้ามาเช่าพื้นที่ขายสินค้า และมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่เท่านั้น

ยกเว้นสินค้าในหมวดเหล้า บุหรี่ ที่ส่วนใหญ่ผู้รับสัมปทานจะบริหารจัดการเอง

ดังนั้น ประเด็นของราคาขายสินค้าแบรนด์เนมในดิวตี้ฟรีบ้านเราสู้กับดิวตี้ฟรีประเทศอื่น ๆ ได้แค่ไหน อย่างไร จึงขึ้นอยู่กับนโยบายบริษัทแม่ของแบรนด์นั้น ๆ เป็นหลัก

เช่นเดียวกับประเด็นที่ว่า ผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีไม่มีต้นทุนด้านการก่อสร้างอาคาร และไม่ต้องมีต้นทุนในเรื่องการทำการตลาด เพราะรัฐบาลทำการตลาดดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาให้อยู่แล้ว

ในประเด็นนี้ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่คิดแบบนี้ เพราะไม่รู้ว่าที่ผ่านมา “คิง เพาเวอร์” ใช้เงินมหาศาลปีละหลาย 100 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านบาท ตลอดช่วงเวลา 11-12 ปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ผ่านสมาคม ชมรม และผู้ประกอบการเอกชนท่องเที่ยวที่ออกไปทำตลาดต่างประเทศ โดยมองว่าผู้ประกอบการเอกชนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการทำตลาดและดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวและจับจ่ายในประเทศไทย

กล่าวได้ว่า “คิง เพาเวอร์” คือผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีจำนวน 10 กว่าล้านคน มีนักท่องเที่ยวจีนไม่กี่แสนคน แถมนักท่องเที่ยวในยุคนั้นก็แทบไม่ได้ช็อปปิ้งในดิวตี้ฟรีเหมือนทุกวันนี้ด้วย เพราะยังเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญที่เข้ามาใช้จ่าย ช็อปปิ้ง ตามร้านที่บริษัททัวร์กำหนดไว้ในโปรแกรม กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวจีนทะลุ 10 ล้านคนไปแล้ว

ไม่เชื่อก็ลองไปถามภาคเอกชนท่องเที่ยวที่ทำตลาดต่างประเทศดู แล้วจะรู้ว่าทำไมพวกเขาถึงรัก “คิง เพาเวอร์” และแอบลุ้นให้ “คิง เพาเวอร์” คว้าสัมปทานต่อไปอีก

ทั้งหลายทั้งปวงนี้อยากให้ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายลองขบคิดให้รอบด้าน ก่อนยื่นซองประมูลในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้อีกครั้ง

เพราะหากไม่เข้าใจธุรกิจ หรือไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ การทุ่มเงินมหาศาลเพื่อประมูลให้ได้สัมปทาน 10 ปีมาครอบครองนั้น อาจเป็น “ทุกขลาภ” ได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่า “เดิมพัน” ครั้งนี้

คงสูงลิบและไม่ธรรมดาแน่นอน…