ความท้าทายยุค VUCA

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

“เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้”

เป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ “เฮนรี มินซ์เบิร์ก” แห่งมหาวิทยาลัยแมคกิลล์เทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาไปไกลมาก เรามีเครื่องมือทันสมัยมากมายสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและการงาน แต่ทำไมการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกลับยากกว่าในอดีตมาก ?

ในงาน “TEP Forum 2019” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษา อธิบายว่า เพราะโลกสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงช้า และเพิ่งจะเปลี่ยนจริง ๆ ในช่วง 200 ปีก่อนหน้านี้จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเกิดขึ้นในรอบ 20 ปีมานี้ จากการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงมีความเร็วสูงขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในปีนี้หรือปีหน้าได้อย่างชัดเจน

ในแวดวงธุรกิจมีคำเรียกสิ่งที่คนยุคนี้ต้องเผชิญว่า “VUCA” มาจากคำ 4 คำ คือ 1.volatility การเปลี่ยนไว 2.uncertainty ความไม่แน่นอน 3.complexity ความซับซ้อน และ 4.ambiguity ความคลุมเครือ

“โลกไม่แน่นอนมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น เพราะมีองค์ประกอบที่เชื่อมโยงเชื่อมต่อกันอย่างหลากหลาย องค์ประกอบจำนวนมากปรากฏอยู่ในทุกสารระบบ ไม่ว่าจะเป็นในโลกการเงินที่ธนาคารต่าง ๆ กู้เงินกันไปมา ฉะนั้น พอเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจก็จะเชื่อมกัน เราจะไม่รู้ว่าถ้าธนาคารหนึ่งล้มแล้วจะส่งผลถึงธนาคาร และส่วนอื่น ๆ อย่างไร แตกต่างจากในอดีตที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้า ๆ และซับซ้อนน้อย เราจึงรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นได้เป็นภาพที่ชัดเจน”

“ซีอีโอ” หลายบริษัทไม่เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น การที่จีนกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในโลก และรุกเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน มีความหมายอะไรต่อบริษัทของเขา จะเป็นคู่ค้า-คู่แข่งหรืออะไรกันแน่ แม้แต่ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน “อาลีบาบา” ที่เข้ามาในประเทศไทยผ่าน “ลาซาด้า” แปลว่าอะไรสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่ตีความได้หลายอย่าง

“โลกจึงเกิดความพลิกผัน เพราะซับซ้อนขึ้น VUCA เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (exponential technology) ภาคธุรกิจรู้แล้วว่าเทคโนโลยี คือ การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด แม้วันนี้อาจยังไม่มีอะไร แต่พรุ่งนี้จะมากกว่านี้ 2 เท่า มะรืนนี้จะมากกว่า 4 เท่า 8 เท่า และมีความเชื่อมโยงกัน”

เทคโนโลยียังสร้างความปั่นป่วนในหลายอาชีพ ดร.สมเกียรติเล่าถึงกรณีที่แบงก์ไทยพาณิชย์พัฒนาแอปพลิเคชั่นบันทึกรายรับรายจ่ายที่ “ผู้ใช้” แค่บันทึกข้อมูลลงในแอปก็จะทำบัญชีให้เสร็จ ไม่ต้องเรียนบัญชีก็ทำบัญชีได้อีกตัวอย่างเป็นบริษัทสตาร์ตอัพไทย ชื่อ “เซอร์ติส” ที่กำลังปั่นป่วนวงการแพทย์ไทย จากการพัฒนา “แอปพลิเคชั่น” ที่ใช้กล้องขยายได้มากกว่าปกติ 20 เท่า เมื่อถ่ายที่ผิวหนังภาพที่ปรากฏจะบอกได้ว่าเป็น “มะเร็ง”หรือไม่ใช้เวลาแค่ 4 นาที และแม่นยำมากกว่าแพทย์ผิวหนังโดยทั่วไป

“นี่คือการปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ทำให้ความรู้มีอายุสั้นลงทุกวัน ความรู้ที่เคยใช้ได้วันนี้ เวลาผ่านไปครึ่งหนึ่งจะถูกโยนทิ้ง มีความรู้ใหม่มาแทนหรือค้นพบว่าเป็นความรู้ที่ผิด”

ความรู้ในทุกสาขาวิชาที่เรียนกันมามีอายุ 10 ปี อีก 10 ปีให้หลังเหลือแค่ครึ่งเดียว อีก 20 ปี เหลือ 1 ใน 4 และลดลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านเศรษศาสตร์, จิตวิทยา, ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่ความรู้ด้านศาสนา แต่ที่เสื่อมค่ามากที่สุด คือ ความรู้ด้านวิศวกรรม อย่างสาขาคอมพิวเตอร์เมื่อจบปี 4 ความรู้ที่เรียนมาปี 1 ใช้ไม่ได้แล้ว

ขณะที่อายุขัย คาดการณ์ตามช่วงเวลาของคนไทยเพิ่มขึ้นปีละ 4 เดือนครึ่ง ต่อเนื่องกัน 60 ปีแล้ว ทำให้อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี แต่หากรวมพัฒนาการของเทคโนโลยีและการรักษาทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นมาก อายุคาดการณ์ของคนไทยจะเป็นอย่างน้อย 80 ปี หรือสูงถึง 98 ปี

ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายก็คือความรู้อายุสั้น แต่คนมีอายุยืนยาวขึ้น ถามว่าเราจะจัดการชีวิต และการเรียนรู้อย่างไรในโลกที่พลิกผันปั่นป่วน ไม่แน่นอนและคนอายุยืนขึ้น