จัดเก็บภาษีลาภลอย ลดภาระกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

คอลัมน์ดุลยธรรม
โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ม.รังสิต

รัฐบาลใหม่กำลังเตรียมผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งหลายนโยบายต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำให้รัฐจำเป็นต้องขยายฐานภาษีและเก็บภาษีเพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาวิกฤตทางการคลัง ทางเลือกหนึ่งคือการเพิ่มเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ภาษีธุรกรรมออนไลน์และทรัพย์สินดิจิทัล ไม่กระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางที่แบกรับภาระภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบสัดส่วนรายได้

มีความเข้าใจผิดว่าคนจนเสียภาษีน้อยหรือไม่เสียภาษี จริง ๆ แล้วคนจนเสียภาษีมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาได้รับ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนภาษีต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 17-19% เท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ขณะที่ไทยมีฐานภาษีแคบ ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ที่เสียภาษีอยู่แล้วต้องแบกรับภาระมากเกินไป สัดส่วนของภาษีต่อจีดีพีของประเทศต่ำกว่าประเทศอื่นที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน

ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทจำกัดขนาดกลางและขนาดเล็กก็ต้องจ่ายภาษีมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่โดยสัดส่วนรายได้ เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่มากกว่า รวมทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ทั้ง ๆ ที่ผู้มีรายได้สูงหรือมีฐานะร่ำรวยได้ประโยชน์จากสังคมและระบบเศรษฐกิจมาก ย่อมมีหน้าที่ต้องสละรายได้ให้แก่สังคมในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำรายได้มาเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศและนำไปจัดสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย แต่ระบบภาษีในประเทศไทยขณะนี้มีผลให้ผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางต้องเสียภาษีมากกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวยเมื่อเทียบสัดส่วนของรายได้

นอกจากนี้ระบบภาษีของไทยมีข้อกำหนดเรื่องการลดหย่อนจำนวนมากและสลับซับซ้อน ไม่มีการเสียภาษีส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (capital-gain tax) ภาษีมรดกก็จัดเก็บไม่ค่อยได้ ฐานข้อมูลการถือครองทรัพย์สินไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถบูรณาการข้อมูลทรัพย์สินได้ทั้งระบบ

ประกอบกับที่ผ่านมาและในอนาคตจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบคมนาคมจำนวนมาก การเก็บภาษีลาภลอยจึงมีความจำเป็น และเป็นทางเลือกหนึ่งในการหารายได้เข้ารัฐ แต่ต้องมุ่งเป้าไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการขยายฐานรายได้ภาษี มีการจัดเก็บภาษีตามประโยชน์จากการลงทุนของรัฐที่ได้รับอย่างเป็นธรรม

เบื้องต้นควรมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากการเก็บภาษีลาภลอยจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการลงทุนต่าง ๆ ของรัฐ

รัฐบาลจึงควรทำประมาณการรายได้จากภาษีลาภลอย เพื่อให้สามารถวางแผนงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ดีขึ้น ลดการกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน ทางด่วนพิเศษ เป็นต้น

ขณะเดียวกันหน่วยงานจัดเก็บภาษีควรดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรายได้จากภาษีลาภลอยควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้บำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง เก็บรายได้เข้ารัฐบาลกลางเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการพัฒนา เพื่อให้ความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนากระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบท ไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล

เพราะการเก็บภาษีแบบนี้เป็นไปตามหลักผลประโยชน์ (the benefit principle) คือบุคคลหรือนิติบุคคลควรจะจ่ายเงินให้รัฐในส่วนที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนหรือการใช้จ่ายของรัฐ และหลักการนี้ยังอ้างอิงความเท่าเทียม คือการใช้ประโยชน์จากบริการของรัฐ โดยคิดว่าการบังคับเก็บภาษีจากผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์ไม่น่าจะเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีลาภลอยควรดูหลักความสามารถที่จะจ่าย (the ability-to-pay principle) ด้วยการปรับโครงสร้างภาษีหรือการปฏิรูปภาษีให้เป็นการเปิดเผย และให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อให้กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ตรวจสอบถ่วงดุลกันเองผ่านกลไกรัฐสภา