ลุ้น! เมืองต้นแบบจะนะ เปลี่ยนพื้นที่สีแดงเป็นเกตเวย์ที่ 3

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย กฤษณา ไพฑูรย์

นับเป็นข่าวดีที่ทำให้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดรอยต่อ เมื่อปลายยุครัฐบาล คสช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 62 ผลักดันการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อทำเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” พร้อมประกาศ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดน” และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ รวมมูลค่า 600,000 ล้านบาทขึ้น ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือปี 2565

โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงการคลัง ให้สิทธิประโยชน์กับเอกชนที่เข้ามาลงทุนกันแบบเต็มพิกัด รวมถึงการหาเงินกู้ก้อนโต 25,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำมาให้ เพื่อจูงใจนักลงทุนเหนือชั้นกว่าการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

แม้จะเป็น “การตั้งไข่…เพียงก้าวแรก”แต่ถือเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่น่าชื่นชม

โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” อดีตผู้บริหาร บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI ซึ่งนำโฉนดที่ดินกว่า 7,000 ไร่ ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2540 มาปัดฝุ่น พร้อมเจรจาจีบนักธุรกิจจีนให้เข้ามาลงทุน “โรงงานผลิตชิ้นส่วนระบบขนส่งทางราง มูลค่า 4 แสนล้านบาท” เพื่อผลิตป้อนชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กับโครงการ One Belt One Road ที่เชื่อมเข้าไปในมาเลเซีย

รวมถึง ปตท. โดย “บมจ.ไออาร์พีซี” ซึ่งในอดีตได้รับโอนที่ดินกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินบางส่วนของทีพีไอมาดูแล ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทจากเกาหลี เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนโครงการอุตสาหกรรพลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก (Energy Complex) มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้เสนอลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ มูลค่า 11,000 ล้านบาท เพื่อรองรับสินค้าประมาณ 1 ล้านตู้ ซึ่งปัจจุบันภาคใต้ส่งออกสินค้าประมาณ 500,000 ตู้/ปี ไปยังท่าเรือรัฐปีนัง มาเลเซีย แต่ในอีก 5 ปี ท่าเรือแห่งนี้จะรองรับการส่งออกในภาคใต้ได้ทั้งหมด

แถมจะดึงลูกค้าตู้คอนเทนเนอร์จากรัฐเกดะห์ตอนบน มาเลเซีย ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 40 กม. ให้มาใช้ท่าเรือแห่งนี้แทนที่ไปส่งที่ท่าเรือรัฐปีนัง ซึ่งอยูาห่างออกไปอีก 100 กม. พร้อมการสร้างรางรถไฟเชื่อมท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายสูงสุดของแนวทางการพัฒนา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” แห่งนี้ ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. หนึ่งในฟันเฟืองหลักที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลต้องการให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม การเมือง การปกครองทั้งหลาย โดยเอาความจำเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่มาก่อน เพราะไม่ต้องการเจอแรงเสียดทานของประชาชนในพื้นที่

เป้าหมายของโครงการ ประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์ 100% และห้ามเกิดผลกระทบต่อประชาชน เพราะฉะนั้น แผนการพัฒนาประชาชนในพื้นที่ต้องออกมาก่อน

“สำหรับข้อกังวลของประชาชนอย่างหนึ่ง คือ เมื่อเอกชนก่อสร้างโครงการเสร็จ มักมีการโยกย้ายแรงงานต่างถิ่นเข้ามาทำงาน มาแย่งงานของคนในพื้นที่ ดังนั้น วันนี้เราเปลี่ยนโจทย์ใหม่ บ้านไหนมีลูกหลานของคนในพื้นที่เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เอาบัญชีมาดู และทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยทักษิณ ฯลฯ เป็นผู้ดำเนินการผลิตแรงงานไว้รองรับ หากจะเข้าไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้า จะต้องพัฒนานักเรียนในพื้นที่ไปสู่ตำแหน่งงานที่ภาคเอกชนต้องการในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการสร้างแรงงานประมาณ 100,000 อัตรา

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเงินรายได้จากสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้า จะถูกหักเข้ากองทุน 10% หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท/ปี เพื่อนำมาจัดสรรให้กับชุมชนในพื้นที่ด้วยรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประกอบอาชีพ การศึกษา สาธารณสุข สร้างโรงพยาบาล ฯลฯ

นับถอยหลังจากนี้ หากไม่มีปัญหาอุปสรรคอื่นใดขัดขวาง อีก 5 ปีข้างหน้า โครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อ.จะนะ จ.สงขลา แห่งนี้จะกลายเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งเชิงพาณิชย์” เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการลงทุน และเป็นเกตเวย์ที่ 3 ในด้านการส่งออกของประเทศไทยอีกช่องทางหนึ่ง

ที่สำคัญ เมื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อน เกิดการสร้างงาน เม็ดเงินหมุนเวียน คาดหวังว่าปัญหาความรุนแรง ข้อขัดแย้งต่าง ๆ จะคลี่คลายหมดไป… เมฆหมอกฝันร้าย ที่ถูกเรียกขานเป็นพื้นที่สีแดง จะกลายเป็นเพียงตำนาน

ได้แต่ขอเอาใจช่วยทั้งฝ่ายรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันผลักดันให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้อย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”