สร้างหนี้แก้หนี้…ดิ้นไม่หลุดกับดัก

บทบรรณาธิการ

แม้หนี้นอกระบบมีแนวโน้มลดลง หลังรัฐใช้ทั้งมาตรการจูงใจ มาตรการทางกฎหมาย ต้อนเจ้าหนี้รายใหญ่ รายย่อย เข้ามาอยู่ในระบบ แต่หนี้ภาคครัวเรือนที่ขยับขึ้นต่อเนื่องยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหนี้ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย คนจนเมือง เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ฯลฯ

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาประเภทหนี้ของภาคครัวเรือนพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย คนระดับกลางและล่างมีหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ หนี้บัตรเครดิต ในสัดส่วนที่สูง ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ไม่พอรายจ่าย และเป็นหนี้จากการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น

สะท้อนพฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัว ไม่มีการวางแผนทางการเงิน ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนไทยสูงขึ้นจนน่าห่วง ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ไตรมาส 4/2561 หนี้สินภาคครัวเรือนอยู่ที่ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ร้อยละ 78.7 สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือช่วงระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2561 นอกจากหนี้ภาคครัวเรือนจะพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 25 จากปี 2552 ที่ร้อยละ 53.5 เป็นร้อยละ 78.7 ของ GDP ในปี 2561 แล้ว มูลหนี้ยังมีเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยภาระหนี้ของคนไทยในปี 2552 ที่ 377,109 บาท/คน พุ่งขึ้นเป็น 552,499 บาท/คน ในปี 2561 แถมมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นหนี้นานขึ้น เกษียณอายุแล้วยังใช้หนี้ไม่หมด

หนี้ภาคครัวเรือนจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่สะสมความเปราะบางให้กับเสถียรภาพทางการเงิน เพิ่มความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา สงครามทางการค้า ศึกค่าเงิน สงครามเทคโนโลยี มีโอกาสปะทุรุนแรงได้ทุกขณะ

ประกอบกับเศรษฐกิจฐานราก ครัวเรือนในชนบท และภาคเกษตร ซึ่งมีปัญหาหนักทั้งเรื่องรายได้ กำลังซื้ออยู่ในสภาพที่ดื้อยา ส่งผลให้แพ็กเกจกระตุ้นรอบแล้วรอบเล่าที่รัฐบาลพยายามอัดฉีดไม่ออกฤทธิ์ ที่สำคัญ หลายมาตรการที่ออกมาเน้นกระตุ้น จูงใจ ให้เกษตรกร เอสเอ็มอี ยื่นขอสินเชื่อก่อหนี้เพิ่มจากหนี้ก้อนเดิม


แม้เป็นเจตนาดีที่รัฐบาลต้องการเพิ่มโอกาสให้คนระดับฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ แต่อีกแง่มุมหนึ่งเท่ากับสนับสนุนส่งเสริมให้การสร้างหนี้ ที่นำมาซึ่งความเสี่ยง เพราะหากไม่มีวินัย ไม่นำเงินที่ได้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือก่อให้เกิดรายได้ หนี้ภาคครัวเรือนจะยิ่งพอกพูน เข้าทำนองสร้างหนี้ แก้หนี้ ดิ้นเท่าไรก็ไม่หลุดกับดัก