รัฐเปิดจีนค้าออนไลน์เสรี ทำลายเศรษฐกิจ SMEs เจ๊งระนาว

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ตอนนี้เดินไปไหน มักได้ยินเสียงบ่นทำนองเดียวกันว่า กำลังซื้อเงียบมาก การค้าขายฝืดเคือง มนุษย์เงินเดือนที่เคยเป็นลูกค้า กลายมาเป็นแม่ค้าเพราะตกงาน

ด้านผู้ส่งออกก็บ่นว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัว คำสั่งซื้อลดลง อีกทั้งค่าเงินบาทไทยแข็งโป๊ก ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ต้องลดกำลังการผลิต ลดจำนวนคนงาน บางแห่งก้าวสู่การปิดโรงงานชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 หรือบางแห่งถึงขั้นเลิกกิจการ

ทางออกของปัญหาหลายคนเรียกร้องให้ภาครัฐ “กระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ”

ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ภาครัฐออกมาตรการหลากหลายมากระตุ้น เช่น โครงการชิม ช้อป ใช้ เรียกว่า “ควักกระเป๋าแจกเงินกันเป็นว่าเล่น” แต่ผลที่หวังจะให้เงินสะพัดหมุนเข้าไปในระบบหลาย ๆ รอบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้อง ดูเหมือนมันออกอาการ… ฝืด ๆ !

เพราะเงินกระจุกตัวไม่กระจาย คนไม่ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่มาทำงานต่างถิ่นอยู่แล้ว

ล่าสุดได้มีโอกาสคุยกับ คุณปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย ได้บอกเล่าถึงสาเหตุที่กำลังซื้อภายในประเทศส่วนหนึ่งที่หายไป เพราะคนไทยไปช็อปปิ้งซื้อสินค้าออนไลน์ของเว็บในต่างประเทศกัน

“ยิ่งเราซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมากขึ้น เงินไม่เกิดการหมุนเวียนภายใน ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ เว็บค้าออนไลน์ระหว่างประเทศทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศไม่หมุน”

ที่สำคัญ สินค้าที่สั่งซื้อมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะสินค้าจากเมืองจีน ทำให้ขายสินค้าได้ราคาถูกและส่งผลกระทบต่อยอดขายของโรงงานระดับ SMEs ของไทยอย่างมาก

ถือเป็นการทำลายเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำลายอุตสาหกรรม SMEs ภายในประเทศทั้งหมด เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยที่ภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้

และผู้นำเข้าเลี่ยงการเสียภาษีนำเข้า หากสินค้าที่สั่งมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเคลมภาษี ไม่ต้องดีแคร์ว่าเป็นอะไร นำเข้ามาได้เลย

ทำให้ใน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ของสินค้านำเข้าจากจีน ถูกแบ่งเป็นแพ็กเล็ก ๆ ลักษณะเดียวกันนี้บรรจุมาเต็มตู้คอนเทนเนอร์

เท่ากับเราเปิดให้ต่างชาติเข้ามาขายสินค้าได้ แต่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย

โรงงานทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขายไม่ออก แต่โรงงานไทยถูกจีนนำสินค้าราคาถูกมาขายถล่ม

“หากเทียบราคาต่อการผลิตระหว่างในเมืองไทยกับจีน ยกตัวอย่าง แก้วเซรามิก หากผลิตในไทย ราคา 60-70 บาท แต่สินค้าแก้วเซรามิกจากจีน ราคา 10 กว่าบาท ผมเคยถามผู้ผลิตในประเทศไทยบอกผลิตขายไม่ได้ราคานี้”

“รัฐบาลบอกเศรษฐกิจดี ตัวเลขดี ทำไมชาวบ้านบ่น เพราะร้านค้าขายสินค้าไม่ได้ เพราะเท่าที่สอบถามตอนนี้ทุกบ้านซื้อสินค้าออนไลน์กันเกือบหมด”

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถทะลุเข้าไปขายสินค้าให้คนจีนถึงบ้านได้อย่างที่ไทยเปิดให้ค้าขายออนไลน์กันอย่างเสรี

ดังนั้น หากรัฐบาลไทยยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ คงได้เห็นโรงงาน SMEs ไทย ปิดตัวกันอีกมากมายในไม่ช้า นั่นหมายถึง “พนักงานในโรงงาน” จะตกงานกันตามมา

และสภาพเศรษฐกิจของไทยอาจจะวิกฤตยิ่งกว่าครั้งต้มยำกุ้ง เพราะบาดแผลครั้งนี้ลงบาดลึกในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง