ผลักเด็กสู่ “ออนไลน์” เมื่อโควิดไม่ได้เปลี่ยนแค่ผู้ใหญ่

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สร้อย ประชาชาติ

การมาของโควิด-19 แบบไม่ทันตั้งตัว ได้ทำให้การเรียนของเด็ก ๆ ทั่วโลกถูกผลักเข้าสู่ห้องเรียนออนไลน์แบบฉับพลัน โดย UNESCO ประเมินว่า มีนักเรียน 1.53 พันล้านคน ใน 184 ประเทศ ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ “ITU” สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ย้ำถึงความสำคัญในการรับมือทั้งในแง่ความเท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการใช้อินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัย

โดย ITU ประมาณการว่า มีพลเมืองอินเทอร์เน็ตวัย 15 ถึง 24 ปี 70.6% ของประชากรเยาวชนทั่วโลกที่มีประสบการณ์ “ออนไลน์” 5 ปีขึ้นไป การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันทำให้เด็ก ๆ จำเป็นต้องใช้ “เวลา” และสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์เชื่อมต่อกับออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่พวกเขา “ยังอ่อนด้อย” ในการรับมือกับสิ่งที่มาพร้อมกับโลกออนไลน์

สิ่งนี้จึงเป็นความท้าทายของทุกหน่วยในสังคม ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ แม้กระทั่งรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ใช้ออนไลน์อย่างปลอดภัยในช่วงโควิด-19 ระบาด

ในบทวิเคราะห์สถานการณ์ของ ITU ระบุว่า ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเหล่านี้ เด็ก ๆ อาจรู้สึกโดดเดี่ยว หรือวิตกกังวล และอาจเห็นครอบครัวสมาชิกถูกรบกวนจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งยังห่างจากโรงเรียน จากคุณครู และเพื่อนฝูง ผู้ที่เดิมทีมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเล่าสู่ถึงปัญหาต่าง ๆ ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ ได้รับมือ มีตั้งแต่ปัญหาความปลอดภัยทั่วไป เช่น การจัดการเวลาออนไลน์ การตั้งค่า การตอบสนองต่อปัญหาอย่างการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต การพบเจอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม การรับมือกับการติดต่อจากคนแปลกหน้า

โดยเคล็บลับสำคัญ 10 ข้อ ได้แก่ 1.สร้างความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ เปิดกว้างพร้อมรับการสื่อสารจากเด็ก ๆ เพื่อให้เขาไว้ใจ และกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเจอ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์

2.ใช้เวลาร่วมกันและไม่ปล่อยให้เด็ก ๆ ออนไลน์เพียงลำพัง เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังทำ ร่วมสนุกกับการเล่นเกม ท่องเว็บไซต์ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุยเกี่ยวกับความปลอดภัยออนไลน์

3.สร้างนิสัยที่ดีและช่วยเหลือเด็ก ๆ ในการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลและสังคม รวมถึงทักษะทางอารมณ์ เช่น ความเคารพ ความเห็นอกเห็นใจ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความรับผิดชอบ การปฏิบัติเป็นพลเมืองออนไลน์ที่ดี

4.เสริมพลังในการช่วยให้เด็ก ๆ ได้ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดด้วยตัวเอง แทนที่จะบอกพวกเขาต้องทำอะไร แต่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่จะทำให้พวกเขามั่นใจ และมีความยืดหยุ่น

5.ตั้งอุปกรณ์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่เปิดโล่งของบ้าน ซึ่งจะช่วยจัดการและมองเห็นได้ว่า เด็ก ๆ กำลังโต้ตอบกับใคร ไม่ว่าจะผ่านสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์เล่นเกมต่าง ๆ

6.ตั้งกฎในการจำกัดเวลาใช้งาน เพื่อให้มีเวลาเหลือสำหรับกิจกรรมในโลกแห่งความเป็นจริง โดยต้องชัดเจนว่าที่ไหน เมื่อไหร่ ถึงจะอนุญาตให้ใช้งานได้

7.ทำความรู้จักกับแอปพลิเคชั่น เกมและโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่เว็บไซต์ที่เด็ก ๆ ใช้งานอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่ามันเหมาะสมกับอายุ และเรียนรู้วิธี ศึกษาถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่น หรือเกมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ ในแต่ละช่วงวัย เพื่อเชิญชวนให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสในการเรียนรู้

8.ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในเกมและแอปพลิเคชั่นที่เด็ก ๆ ใช้งานอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าโปรไฟล์ของพวกเขาถูกเปิดใช้งานอย่างเข้มงวดที่สุด การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้ “จำกัด” ผู้ที่สามารถติดต่อได้

9.ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อตั้งค่าการควบคุมโดยผู้ปกครอง ที่สามารถกรองเนื้อหาที่เป็นอันตราย ตรวจสอบการใช้งานของเด็ก และจำกัดหรือบล็อกเวลาในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หรือฟังก์ชั่น (เช่น กล้องในแอป สั่งซื้อสินค้า)

10.หมั่นสังเกต “สัญญาณ” ของความผิดปกติที่เกิดขึ้น ยิ่งในช่วงเวลาที่ “ไม่ปกติ” เช่นนี้ แม้ว่าไวรัสโควิดอาจไม่กระทบกับสุขภาพกาย แต่อาจทำให้เกิดความตึงเครียดได้

และหากผู้ปกครองรู้สึกว่า 10 ข้อนี้เข้าใจเป็นรูปธรรมยากเกินไป มีตัวช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก คลิก http://digiworld-th.parentzone.org.uk/ เลือกเป็นภาษาไทยได้เลย เพราะภูมิคุ้มกันเด็ก ๆ จะเริ่มขึ้นได้ ผู้ปกครองต้องแข็งแรงก่อน