ส่งต่อความรู้ “เชฟ” จากรุ่นสู่รุ่น

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

ผ่านมาผมเห็นสถาบันการศึกษาหลายแห่งเปิดหลักสูตรเชฟขึ้นราวกับดอกเห็ด ก็ให้รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักเรียน นิสิต นักศึกษาสมัยนี้เป็นอย่างมาก เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี เรื่องของการทำอาหาร คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

ทั้งร้านอาหารไทยยังติดอันดับร้านอาหารยอดนิยมของโลกในเมืองใหญ่ ๆ ด้วย

ทั้งยังทำท่าว่าจะติดอันดับโลกต่อไปอีกหลายปี

เพราะอาหารไทยเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์

มีรสชาติเฉพาะตัว

และมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายหลายอย่าง

เพราะคุณสมบัติของอาหารไทยต่างเต็มไปด้วยสมุนไพรมากมาย

แต่เรื่องนี้ก็แปลกแต่จริง เพราะสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรเชฟขึ้น ส่วนใหญ่นักเรียน นิสิต นักศึกษา จะเรียนเกี่ยวกับการทำอาหารฝรั่ง สไตล์เมดิเตอร์เรเนียนบ้าง สไตล์อิตาลี หรือฝรั่งเศสบ้าง

น้อยคนนักที่จะเรียนทำอาหารไทย

และมีอีกจำนวนมากที่เรียนทำขนม เบเกอรี่แบบฝรั่งแท้ ๆ

ค่าเล่าเรียนก็ใช่ว่าจะถูก และส่วนใหญ่คนที่เรียนมักเป็นลูกหลานคนมีสตางค์เกือบทั้งสิ้น จนทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อตลาดมีความต้องการทานอาหารไทย แต่ทำไมคนถึงเรียนการทำอาหารไทยน้อยลง

สังเกตได้จากเชฟ หรือกุ๊กที่อยู่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นลุง, ป้า, น้า, อา ที่เคยทำร้านอาหารไทยในประเทศไทยมาก่อน

พูดง่าย ๆ ว่า ต้ม, ผัด, แกง, ทอด เขาทำได้ทุกอย่าง

ดังนั้น เมื่อเจ้าของร้านชวนทำร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ด้วยสนนค่าจ้างที่แพงกว่าอยู่เมืองไทย 4-5 เท่าทำไมเขาจะไม่มาล่ะครับ ทั้ง ๆ ที่การทำอาหารไทยอยู่ในสายเลือดของคนไทยมานาน ตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา และการทำอาหารไทยเหมือนเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของวิถีชนบทแบบไทย ๆ

ยกตัวอย่างถ้าจะทำแกงเขียวหวานเนื้อสักหม้อ พ่อหรือแม่จะชักชวนให้ลูก ๆ หลาน ๆ มาช่วยกันทำ คนหนึ่งขูดมะพร้าว คนหนึ่งตำน้ำพริก คนหนึ่งหั่นเนื้อ คนหนึ่งเตรียมเครื่องแกง คนหนึ่งไปเด็ดใบโหระพา หรือคนหนึ่งไปหยิบน้ำปลา น้ำตาล เพื่อเตรียมปรุงรส

เพราะครอบครัวคนไทยเป็นครอบครัวใหญ่ เวลาทำอะไรกิน เขาไม่ได้ทำกันแค่เฉพาะในครอบครัวเท่านั้น แต่เขาทำเผื่อแผ่คนข้างบ้านด้วย

ครอบครัวไหนรู้จักคนเยอะก็จะทำแจกมากหน่อย

ใครรู้จักน้อยก็แจกน้อย

และการช่วยกันทำกับข้าวถือเป็นการ “ส่งต่อความรู้” แบบรุ่นต่อรุ่น

จากรุ่นปู่, ย่า, ตา, ยาย มาจนถึงรุ่นพ่อ, แม่

กระทั่งมาถึงรุ่นเรา เพียงแต่ระยะหลัง ๆ ชีวิตของคนเราเร่งรีบมากขึ้น ไม่ค่อยมีเวลาทำกับข้าว การส่งต่อความรู้แบบนี้จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น

และไม่เฉพาะแต่อาหารไทยเท่านั้น

หากขนมไทยหลากหลายชนิดก็ใช้วิธีการส่งต่อความรู้แบบนี้เช่นกัน

เพียงแต่อาหารไทยอาจแยกประเภทออกเป็นหลายชนิด

เช่น อาหารชาววังก็จะเป็นอีกประเภทหนึ่ง

อาหารพื้นบ้านก็จะเป็นอีกประเภทหนึ่ง

หรืออาหารท้องถิ่นก็จะเป็นอีกประเภทหนึ่ง

แต่ทั้งนั้น ทุกชนิดล้วนมีเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง

ผมจึงมานั่งคิดเล่น ๆ ว่า หากการส่งต่อความรู้การทำอาหารไทยไม่ขาดช่วง และชีวิตของคนไทยไม่เร่งรีบเหมือนทุกวันนี้ เชื่อแน่ว่าเชฟไทย หรือกุ๊กไทย คงจะเดินทางไปปกคลุมร้านอาหารไทยทั่วโลกเป็นแน่ ยิ่งอาหารไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากอย่างนี้ด้วย

ยิ่งทำให้เดาได้เลยว่า เชฟไทย หรือ กุ๊กไทย คงต้องนำเข้าเงินตราต่างประเทศอย่างมหาศาล แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบดี คนไทยเป็นประเภทใกล้เกลือกินด่าง

อยู่ใกล้มักไม่เห็นคุณค่า

หาไม่เช่นนั้นโรงเรียนสอนการทำอาหารคงไม่เปิดขึ้นราวกับดอกเห็ด ทั้ง ๆ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในตัวคนไทยทุกคนอยู่แล้ว

เผลอ ๆ องค์ความรู้ต่าง ๆ ก็อยู่ในแต่ละครอบครัวนั่นแหละ

เพียงแต่ไม่ได้คุย

ไม่ได้สอบถาม

หรือไม่ได้ส่งต่อความรู้การทำอาหารแบบคนโบราณนั่นเอง

จึงทำให้เรื่องง่าย ๆ จึงกลายเป็นเรื่องยากเสียจนทำให้คนหนุ่ม-สาวสมัยนี้ต้องเสียเงินเข้าคอร์สอบรมมากมาย

เพื่อจะได้ทำอาหารเป็นสักอย่างหนึ่ง ซึ่งผมเห็นแล้วก็เศร้าใจ

แต่ถ้ามองในแง่บวก ยังดีเสียกว่าปล่อยให้ชาวต่างชาติมาเรียนเสียจนกลายเป็นอาจารย์ แล้วสุดท้ายลูก ๆ หลาน ๆ ของคนไทยต้องเสียเงินไปเรียนทำอาหารไทยกับชาวต่างชาติ

เหมือนกับครูมวยไทย ที่ตอนนี้กลับกลายเป็น “ครูมวยฝรั่ง” ไปเปิดโรงเรียนสอนมวยไทยในหลาย ๆ ประเทศ จนทำให้เขาร่ำรวยมหาศาล

ขณะที่ครูมวยไทยกลายเป็นครูรับจ้างสอน กินเงินเดือนไม่กี่สตางค์ ซึ่งเห็นแล้วน่าปวดใจ ผมจึงอยากให้ใครก็ตามที่มีวิชาความรู้ในการทำอาหารไทย ขนมไทย ลองฝึกปรือฝีมือเยอะ ๆ เผื่อบางทีอนาคตข้างหน้า เราอาจจะมีร้านอาหารไทยเปิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศในอาเซียน เอเชีย สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป มากขึ้นกว่าเดิมอีกก็ได้

ยิ่งเฉพาะในช่วงที่หลายประเทศที่กล่าวมาต่างผจญกับมหันตภัยไวรัสร้ายอย่างที่เห็น ผมว่าช่วงนี้ทุกคนก็ถนอมตัวกันไว้ดี ๆ เผื่อบางทีหลังจากผ่านช่วงร้าย ๆ เราอาจจะไปปักหมุดเป็น “พ่อครัวไทย” ในต่างแดนกันบ้างก็ได้

แต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้แน่

เตรียมตัวให้พร้อมไว้ก็แล้วกัน ?