วิวาทะ… ‘แจก-ไม่แจก’

คนละครึ่ง-กรุงไทย1
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติฯ

เป็นที่ถกเถียงกันมาก เรื่องการเยียวยาประชาชนที่กำลังลำบากจากภาวะ “วิกฤต” ที่ประเทศกำลังเผชิญ

บางคนก็บอกว่า รัฐควรจะต้อง “แจกเงิน” ทันที และแจกเป็น “เงินสด” เพราะคนจะได้นำเงินไปใช้จ่ายได้ตามความประสงค์ แบบไม่ถูก “จำกัด” ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ดี

ที่สำคัญ วิธีการไม่ยุ่งยาก ซึ่งน่าจะ “ถูกใจ” ผู้ที่กำลังเดือดร้อนอยู่มากกว่า เพราะมองว่าการจะต้องลงทะเบียนผ่าน “สมาร์ทโฟน” อาจจะเป็นการกีดกันคนบางกลุ่มออกไป ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่สมควรได้รับสิทธิ เช่น คนแก่คนเฒ่า คนยากจน ที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ทันสมัยเหล่านี้ เป็นต้น

แต่บางคนก็เถียงว่า “ไม่ควรแจก” เพราะจะทำให้ต่อไปคนจะรอแต่ให้รัฐแจกเงินอยู่ร่ำไป หรือถ้าจำเป็นต้องแจก ก็มองว่า “ไม่ควรให้เป็นเงินสด” เพราะตรวจสอบยาก และอาจจะถูกนำไปใช้แบบ “ไม่พึงประสงค์” ได้ ซึ่งอาจจะหมายถึง ซื้อหวย ซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่ หรือใช้หนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ อะไรทำนองนั้น

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว รัฐบาลก็ตัดสินใจ เลือกวิธีการ “ไม่แจกเงิน” ในโครงการ “เราชนะ” ที่เป็นการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งผู้ได้รับสิทธิแต่ละคนจะได้รับเงินรวม 7,000 บาท

โดยใช้วิธีการใส่เงินช่วยเหลือเข้าไปในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทยแทน ในลักษณะเดียวกับโครงการ “คนละครึ่ง” นั่นเอง

เพียงแต่รอบนี้ ประชาชนไม่ต้องเติมเงินตัวเองลงไปด้วยเหมือน “คนละครึ่ง” แต่วิธีการใช้ ก็จะเป็นการ “สแกนจ่าย” เหมือนกัน และรัฐจะใส่เงินให้เป็น “รายสัปดาห์” ไม่ใช่ใส่ให้เป็น “รายเดือน”

ขณะที่ร้านค้าที่ร่วมโครงการ ก็ได้มีการขยายไปให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องค่าโดยสารมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่มิเตอร์ และรถตู้โดยสารประจำทาง ทั้งนี้ ยังคงปิดประตูไม่ให้โมเดิร์นเทรดเข้าร่วมโครงการเช่นเดียวกับ “คนละครึ่ง” โดยกำหนดว่า ผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะร่วมโครงการได้ ต้องไม่เป็น “นิติบุคคล” แต่เป็น “รายย่อย” ที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้

หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนชุมชนเมือง หรือวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมาย

ฟังจากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เหตุผลว่า รัฐจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมเกี่ยวกับการ “แจกเงิน” ใหม่ เพื่อให้มีความ “โปร่งใส” รวมถึงผลักดันสังคมไทยให้ก้าวไปสู่ “สังคมไร้เงินสด” เหมือนเมืองจีน

ส่วนการที่ต้องให้ลงทะเบียนรับสิทธิ ก็เพื่อให้ผู้ต้องการรับสิทธิได้ “ยืนยัน” ความเดือดร้อนของตนเอง รวมถึง “ยินยอม” ที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบางส่วนตามเงื่อนไขโครงการ

โดยโครงการ “เราชนะ” กระทรวงการคลังชี้แจงว่า จะเป็นการให้ลงทะเบียนเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูล หรือไม่ใช่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนคนที่อยู่ในฐานข้อมูลอยู่แล้วไม่ต้องลงทะเบียน แต่จะใช้วิธี “ตัด” คนที่ไม่เข้าข่ายออกไป

การลงทะเบียนเพื่อคัดกรองสิทธิแบบนี้ ก็ว่ากันไป แต่การลงทะเบียนในลักษณะต้องให้คนแข่งกัน แย่งกันเหมือน “เล่นเกมชิงรางวัล” อาจจะต้องทบทวน

ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ก็ควรต้องมีการทบทวนในทุก ๆ มาตรการที่ทำไปแล้ว มาตรการไหนดี ก็ต่อยอด ส่วนมาตรการไหนแย่ ก็ต้องยกเลิกไป และไม่ทำแบบนั้นอีก

ทั้งหมดนี้ไม่ได้จะชี้ว่าแนวทางใดถูก แนวทางใดผิด เพราะเรื่องแบบนี้ต้องขึ้นกับสถานการณ์ และความจำเป็นด้วย อย่างไรก็ดี ภาครัฐในฐานะผู้ดำเนินนโยบาย ก็ต้องน้อมรับทุกคำวิจารณ์ และตอบให้เคลียร์ถึงวิธีคิดในทุกประเด็น ถ้าคิดดี คิดรอบคอบแล้ว ก็คงไม่ต้องไปกลัวอะไร

พูดได้ วิจารณ์ได้ เห็นด้วยได้ คัดค้านได้

แบบนี้แหละ คือ วิถีที่ควรจะเป็น… นั่นก็คือ “วิถีแห่งสังคมประชาธิปไตย” นั่นเอง