แรงงานต่างด้าวในระบบ 2.3 ล้านคน

แรงงานต่างด้าว
นอกรอบ
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ก.แรงงาน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการระบาดในระลอก 3 ซึ่งคลัสเตอร์โรงงานเป็นหนึ่งในแหล่งต้นทางทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยถูกจับตามองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งการติดเชื้อ แพร่เชื้อ

ล่าสุดแม้รัฐบาลจะใช้มาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบคัดกรองโรค โดยหลายหน่วยงานร่วมดำเนินการ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม มหาดไทย สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขณะเดียวกันก็ให้โรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และแรงงานที่ทำงานในโรงงาน ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID และ Thai Save Thai สกัดการแพร่ระบาด แต่ยังมีความเสี่ยงจากที่ยังมีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และกลุ่มแรงงานต่างด้าวนอกระบบที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่มีใบอนุญาตทำงาน

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย และได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวรายงานสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร จำนวนทั้งสิ้น 2,307,812 คน จำแนกตามลักษณะการเข้าเมืองได้ ดังนี้

– ต่างด้าวตามมาตรา 59 ประเภททั่วไป ได้แก่ คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ฯลฯ มีประเภทได้รับอนุญาตตลอดชีพ 68 คน ประเภททั่วไป 96,705 คน นำเข้าตาม MOU 705,098 คน นำเข้าตาม Name List มติ ครม. วันที่ 20 สิงหาคม 2562 รวม 935,895 คน

– ต่างด้าวตามมาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุน โดยเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520) หรือกฎหมายอื่น ได้แก่ พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวม 43,450 คน

– ต่างด้าวตามมาตรา 63/1 เป็นต่างด้าวประเภทชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย รอพิสูจน์สถานะยื่นขอใบอนุญาตทำงาน 77,308 คน

– ต่างด้าวตามมาตรา 63/2 ประเภทต่างด้าวแบบ บต.23 แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดลง อาทิ ออกจากนายจ้างรายเดิม แต่ยังหานายจ้างรายใหม่
ไม่ได้ภายใน 30 วัน 195,148 คน

– ต่างด้าวตามมาตรา 63/2 ประเภทต่างด้าวแบบ บต.24 เข้ามาทำงานโดยใช้บัตรผ่านแดน ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ซึ่งครบวาระจ้างงาน การอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนสิ้นสุด 23,767 คน

– ต่างด้าวที่นำเข้าตามมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 จำนวน 230,373 คน

ประเภทอาชีพที่ต่างด้าวตามมาตรา 59 ประเภททั่วไป ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายอื่น ๆ 30,052 คน ผู้ประกอบอาชีพด้านการสอน 29,440 คน กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารระดับสูง 20,810 คน

ต่างด้าวตามมาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุน ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อาชีพแรก ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายอื่น ๆ 16,396 คน ช่างเทคนิค 6,676 คน กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารระดับสูง 5,315 คน

อาชีพที่ต่างด้าวชนกลุ่มน้อยตามมาตรา 63/1 ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ งานกรรมกร 58,004 คน งานทำสวนผักและผลไม้ 3,007 คน งานช่างปูน 1,169 คน

ประเภทกิจการที่ต่างด้าวตามมาตรา 63/2 ตามแบบ บต.23 ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง 51,205 คน กิจการต่อเนื่องการเกษตร 21,946 คน กิจการให้บริการ 15,405 คน

ขณะที่ประเภทอาชีพที่ต่างด้าวตามมาตรา 63/2 แบบ บต.24 ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด ได้แก่ กิจการผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป 7,301 คน กิจการเกษตรและปศุสัตว์ 4,376 คน กิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 2,724 คน

สำหรับแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 59 ทั้งสิ้น 1,640,993 คน แยกเป็น นำเข้าตาม MOU 705,098 คน นำเข้าตามมติ ครม. 20 สิงหาคม 2562 รวม 93,895 คน

โดยต่างด้าวที่นำเข้าตาม MOU ได้รับอนุญาตทำงานในประเภทกิจการก่อสร้างมากที่สุด 135,484 คน กิจการต่อเนื่องการเกษตร 112,776 คน กิจการให้บริการ
65,044 คน ส่วนประเภทนำเข้าตามมติ ครม. 20 สิงหาคม 2562 ได้รับอนุญาตทำงานในกิจการก่อสร้างมากที่สุด 174,339 คน กิจการเกษตรและปศุสัตว์ 135,442 คน และกิจการให้บริการต่าง ๆ 89,202 คน

แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ไม่มียอดผู้ได้รับอนุญาตทำงาน ขณะที่แรงงานต่างด้าวประเภทนำเข้าตามมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 ณ เดือนพฤษภาคม 2564 ได้รับอนุญาตทำงานรวม 230,373 คน ประเภทกิจการที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กิจการเกษตรและปศุสัตว์ 52,291 คน กิจการก่อสร้าง 44,233 คน กิจการผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 20,007 คน