ไฮสปีด “ลาว-จีน” เปิดหวูด ตัวช่วยสินค้าไทยเจาะตลาดแดนมังกร

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
พิเชษฐ์ ณ นคร

เริ่มนับหนึ่งเจรจาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยกับจีนมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงวันนี้แม้แผนการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะมีความคืบหน้า หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดประมูลได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ยังมีปมปัญหาสารพัดต้องเร่งเคลียร์เร่งแก้

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายสาธารณูปโภค การปรับสเป็ก ปรับรูปแบบก่อสร้าง ปัญหาการทับซ้อนของเส้นทางช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กับโครงการไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินแบบไร้รอยต่อ ส่งผลให้ต้องขยับไทม์ไลน์โครงการ จากเดิมที่กำหนดแล้วเสร็จปี 2568 ถูกเลื่อนไปปี 2569

ขณะที่ไฮสปีดเทรนลาว-จีน ระยะทางรวม 414 กม. จากเหนือจดใต้ เมืองบ่อเต็นถึงเมืองหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเริ่มตอกเข็มช่วงเดือนธันวาคม 2559 หลังการเจรจาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ร่วม 1 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง คืบหน้ากว่า 10% แล้ว และมีกำหนดจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคมนี้

ล่าสุด สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า แม้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่วิศวกรจีน วิศวกรลาวพยายามเร่งงานก่อสร้างโครงการนี้เต็มที่ มั่นใจว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 ตามกำหนด เนื่องจากการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมส่วนใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบราง คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนสิงหาคมนี้

เท่ากับพื้นที่ไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาเขตร้อน และมีปัญหาทางด้านสภาพภูมิอากาศ รวมการเดินทาง เส้นทางจราจรเป็นอุปสรรค ไม่มีผลทำให้แผนงานต่าง ๆ ล่าช้า คนลาวจะมีโอกาสได้ใช้บริการไฮสปีดเทรน การเดินทาง การขนส่งจะสะดวกสบายขึ้น ทั้งการสัญจร การขนส่งสินค้า ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับประเทศไทย ไฮสปีดไทย-จีน ก่อสร้างเสร็จ เปิดให้บริการเมื่อไหร่ คนไทยทั้งประเทศก็จะได้อานิสงส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้าจากไทย ผ่านลาวไปยังตลาดจีน ในทางกลับกันก็จะช่วยลดระยะเวลา ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า การเดินทางมายังประเทศไทย ขอแค่อย่าให้ไทม์ไลน์แผนงานก่อสร้างที่ปรับใหม่ขยับออกไปอีก

ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสำนักงานปักกิ่ง รายงานว่า รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่จะเปิดใช้งานในปีนี้ กระชับเวลาในการขนส่งผลไม้ลาวและไทยไปยังจีน ทั้งนี้ สื่อจีนรายงานรถไฟฟ้าความเร็วสูงลาว-จีน จะเปิดใช้งานในเดือนธันวาคม 2564 จะมีผลดีต่อการส่งออกกล้วยและแตงโมของลาว อีกทั้งยังมีผลดีต่อการส่งออกผลไม้ ผัก กุ้ง และสินค้าเกษตรของไทยอื่น ๆ อีกมาก

แม้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ปริมาณผู้โดยสารในช่วงแรกที่เปิดให้บริการมีไม่มากนัก แต่การขนส่งสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่ายจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรง เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดให้บริการจะมีผลดีต่อการยกระดับประสิทธิภาพ และปริมาณในการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ในด้านราคาค่าขนส่งยังคงต้องมีการพิจารณาต่อไป

โดยศุลกากรจีนได้ปรับปรุงรายการนำเข้าผลไม้ ที่ได้รับอนุญาตในวันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งปัจจุบันลาวได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไปยังประเทศจีน 2 ชนิด ได้แก่ กล้วย และแตงโม และขณะนี้กระทรวงการเกษตรและป่าไม้ของลาว กำลังอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับศุลกากรจีน เพื่อที่จะส่งออกเสาวรส ส้ม และใบยาสูบแห้ง ขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้เตรียมเอกสารการอนุญาตการเปิดตลาดเพื่อทำการค้าผลไม้อื่น ๆ อย่างทุเรียน ลำไย แก้วมังกร ขนุน และลูกเดือยด้วย

ต้องจับตามองว่าช่วง 4-5 ปีจากนี้ไป ระหว่างรอไฮสปีดไทย-จีน เปิดใช้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหยิบฉวยจังหวะ โอกาสช่วงไฮสปีดเทรนลาว-จีน เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศที่กำลังซมพิษโควิดได้มากน้อยแค่ไหน