การถ่ายทอด “เทคโนโลยี” จากการลงทุนต่างประเทศ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

การปฏิรูประบบการผลิตให้สามารถสร้างมูลค่าของผลิตผลและผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาฐานะการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ได้ การปฏิรูประบบการผลิตต้องการสิ่งใหม่ ๆ ที่เรียกว่า “นวัตกรรม” (innovation) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริหารจัดการแบบใหม่ หรือการตลาดที่แปลกใหม่

“นวัตกรรม” เป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องมีองค์ความรู้รองรับ เพราะเพียงจินตนาการประการเดียวไม่อาจที่จะสร้าง “นวัตกรรม” ขึ้นมาได้ องค์ความรู้ดังกล่าวนี้มีทั้งที่เป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ หาก “ศาสตร์” (sciences) จะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก นอกจากนั้นส่วนใหญ่ของ “นวัตกรรม” จะต้องเกิดขึ้นภายในประเทศ เพราะหากจะหวังพึ่งแต่การนำเข้าจากภายนอกตลอดกาล ฐานะการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะขาดความมั่นคงและยั่งยืน

ตราบใดที่หวังพึ่ง “นวัตกรรม” จากภายนอก ก็อย่าได้สร้างจินตนาการในเรื่อง “การปลดกับดัก” อะไรทั้งสิ้น

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของชาติ ก็คือการสร้าง “นวัตกรรม” จากขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี แต่ยุทธศาสตร์ “ความเป็นความตาย” ของชาติบ้านเมืองดังกล่าวนี้ ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังจากผู้ที่รับผิดชอบและมีความห่วงใยอนาคตบ้านเมือง

ฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ที่สนับสนุนด้วยงานวิจัยทุกระดับและทุกรูปแบบ จะช่วยทำนุบำรุงขีดความสามารถดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง หากในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก แม้กระทั่งจะติดตามก็ยังยากที่จะทำได้ ในขณะที่ฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ก็ยังไม่เป็นปึกแผ่นแข็งแรงเท่าที่ควร

สำหรับงานวิจัยที่ดำเนินการอยู่ ก็มีขอบเขตจำกัดและอยู่ในระยะแรกเริ่ม ไม่อยู่ในฐานะที่จะอำนวยการสร้าง “นวัตกรรม” ได้ตามความประสงค์ ด้วยเหตุนี้มีทางเดียวก็คือ “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” (technology transfer)

เมืองไทยของเราได้มีการกล่าวถึงเรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” มาหลายสิบปี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หากในทางปฏิบัตินั้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างจริงจังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่สอนคนไทยให้รู้จักใช้เท่านั้น

ความเข้าใจที่สับสนในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีของรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และสื่อมวลชนโดยทั่วไป น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเปรียบเสมือนปลูกต้นไม้ล้มลุก คือปราศจากรากแก้ว

ประเทศญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ใช้เวลาประมาณครึ่งศตวรรษ ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโลกตะวันตกทุกรูปแบบ จนกระทั่งผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแถวหน้าของโลก ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ใช้เวลาน้อยกว่า 50 ปี นับตั้งแต่เปิดม่านไม้ไผ่เชื่อมเศรษฐกิจโลก บังคับให้ต่างประเทศที่จะมาลงทุนผลิตสินค้าป้อนตลาดขนาดมหึมาของจีน หรือเข้ามาก่อสร้างอะไรในจีน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนทั้งหมด ณ วันนี้ จีนก็ยืนอยู่แถวหน้าของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

ทั้งญี่ปุ่นและจีนและอีกหลาย ๆ ประเทศเชื่อมั่นว่า ชาติใดครองเทคโนโลยี ชาตินั้นครองเศรษฐกิจ ชาติใดครองเทคโนโลยี ชาตินั้นครองอำนาจ

แต่เมืองไทยของเรามิได้ให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างขีดความสามารถพึ่งตนเอง เราต้องการเงินค่าสัมปทาน ต้องการเงินจากนักท่องเที่ยว ต้องการหางานให้คนทำแค่หยิบมือเดียว และต้องการตัวเลขสูง ๆ ในรายได้ประชาชาติ และในการส่งออก จากการลงทุนต่างประเทศ (foreign investment)

หลักคิดประจำชาติก็คือ ซื้อเขาถูกกว่า สะดวกกว่า สบายกว่า และก็รวยเร็วกว่าสำหรับผู้ประกอบการที่มือยาวและสายตาเฉียบคม

จนกระทั่งมาในยุคปัจจุบัน จึงมีหลักคิดที่พอจะอยู่ในร่องในรอยบ้าง แต่ก็ยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ทั้งนี้ เพราะมีจิตผูกพันอยู่กับธุรกิจและการตลาด มิได้ผูกพันกับเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ การเชิญชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในการทำธุรกิจในเมืองไทยนั้น ถูกต้องแล้ว

แต่ไม่ต้องแลกกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพราะนักลงทุนจากต่างประเทศเขาตระหนักกันดีอยู่แล้ว ว่าทำธุรกิจในเมืองไทย ประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษได้มาก เพราะไทยไม่เข้มงวดกวดขันทำให้ต้นทุนต่ำ

เพียงขอความร่วมมือให้เขาถ่ายทอดเทคโนโลยีพื้น ๆ ของเขาให้แก่เรา โดยไม่รบกวนเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยไทยเราจะเตรียมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร ตลอดจนวิธีการรับการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบเอาไว้ให้พร้อมเสร็จสรรพ เพื่อการเตรียมความพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีพื้น ๆ จากโครงการลงทุนจากต่างประเทศ

ประเทศไทยต้องการ “Ph.D.” ในสาขาต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก แต่จะต้องตอบให้ได้ สำหรับการวางแผนกำลังคน