ส่องทิศทางค่าเงินบาท Q4 อ่อนค่าทะลุ 34.50 บาท/ดอลลาร์

คอลัมน์ ดุลยธรรม
อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

ทิศทางค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มอาจติดลบ โดยไตรมาสแรกปี 2564 ดุลบัญชีเงินสะพัดขาดดุลแล้ว 2.6 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าไตรมาส 2 และ 3 จะยังขาดดุลต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลลดลง

คาดว่าปีนี้ดุลบัญชีเงินทุนมีเงินไหลออกสุทธิไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านดอลลาร์ ทั้งการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรง และการลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดการเงิน ปีที่แล้วเงินทุนไหลออกสุทธิ -3.59 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่อัตราการค้าปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากราคานำเข้าสินค้าเพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออก

ด้านเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งตัวเลขการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ตัวเลขตำแหน่งงานเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นถึง 943,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง การกระเตื้องขึ้นของดัชนีภาคการผลิตและการบริการ ดัชนีค้าปลีกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐอาจทยอยลดวงเงินในการทำ QE ลงในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

แม้การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นภาพสะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงอย่างมาก แต่ผลของการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม จะช่วยกระตุ้นภาคส่งออก การจ้างงาน และรายได้จากการท่องเที่ยว หากสามารถเปิดประเทศได้

ผลกระทบในทางลบที่มีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และแรงกดดันเงินเฟ้อจะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่จำนวนมาก และอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมยังต่ำเฉลี่ยที่ 66-67% ไม่ว่าพิจารณาปัจจัยทางด้านอุปสงค์หรืออุปทานไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นมาก

คาดการณ์จากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่น จะทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้จะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำพิเศษไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเร่งตัวของเงินเฟ้อและเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินบรรเทาลง อัตราดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกนาน

จึงขอให้ “คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน” ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจริงจังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ให้เหลือ 0% หรืออย่างน้อยต้องลดลงให้เหลือ 0.10% ในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่จะทรุดตัวลงในปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565

หากตัดสินใจช้าจะไม่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้ทันการณ์ และดูเหมือนประเทศคงจำเป็นต้องล็อกดาวน์อยู่เป็นระยะ ๆ และคาดว่ามาตรการการคลังมีข้อจำกัดจากเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่น่าจะทะลุเพดาน 60%

อย่างไรก็ตาม การขยายเวลาและขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ไม่ได้ผลในการลดการติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตมากนัก ควรเปลี่ยนวิธีการให้ดำเนินชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด และเดินหน้าเปิดประเทศ หลังจากระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้เต็มที่แล้ว

จุดประสงค์ของการล็อกดาวน์ คือ ป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ไม่ให้จำนวนผู้ป่วยล้นเกินไป เพราะล็อกดาวน์ ไม่ได้ทำให้โรคหายไป เราจะต้องอยู่กับ COVID-19 ไปอีกนาน ฉะนั้น เราต้องมีวิธีการจัดการใหม่ คือ อยู่กับมัน เหมือนเราอยู่กับโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคเอดส์

โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขเคร่งครัด ฉีดวัคซีนในอัตราเร่งเดือนละ 10 ล้านโดส เป็นอย่างต่ำ หรือวันละ 3.34 แสนโดส เป็นอย่างน้อย เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 50 ล้านคน (70% ของประชากร) ได้ฉีดเข็มแรกภายในเดือน ต.ค.นี้ก็จะบรรลุผล และเดินหน้าเปิดประเทศได้

รวมทั้งต้องเน้นฉีดกลุ่มคนทำงานที่ต้องสัมผัสกับผู้คนมาก ๆ ก่อน เพื่อลดการแพร่ระบาด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ตำรวจ รปภ. กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ กลุ่มคนขับรถเมล์ คนขับแท็กซี่ พนักงานบริการต่าง ๆ เป็นต้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันมีต้นทุนที่ถูกกว่าการปล่อยให้คนติดเชื้อแล้วค่อยรักษามาก หากปล่อยให้คนติดเชื้อและอยู่ในระหว่างการรักษาเกิน 400,000 คน ในแต่ละช่วงเวลา ต้นทุนทางเศรษฐกิจจะสูงมาก และอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มเฉลี่ยเกิน 200 คนต่อวันได้

การควบคุมการระบาดในระยะนี้ จึงต้องเน้นไปที่มิติความสัมพันธ์ของคนมากกว่าคุมพื้นที่ เช่น คนงานติดเชื้อที่โรงงาน ไม่ใช่เน้นไปคุมพื้นที่โดยรอบโรงงาน หรือปิดโรงงาน ต้องเอา “คนติดเชื้อ” ออกมา แล้วให้โรงงานเปิดการทำงานได้ตามปกติ แล้วเน้นไปควบคุมว่าคนงานติดเชื้อนั้นไปมีปฏิสัมพันธ์กับใครบ้างมากกว่า จึงไม่ทำให้เศรษฐกิจเสียหายไปมากกว่านี้ เพราะสิงคโปร์ ไต้หวัน ก็ทำแบบนี้ นอกจากนี้ ต้องจัดสรรงบประมาณให้ระบบสาธารณสุขเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยหนัก