มะเร็งน่ากลัวกว่า COVID-19 (1)

Healthy aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพราะ COVID-19 ประมาณ 4.4 ล้านคน และความตื่นตระหนกกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าก็คงจะยังดำเนินต่อไปอีกหลายเดือน นอกจากนั้นการที่ระบบสาธารณสุขของทุกประเทศต้องหันมาทุ่มเททรัพยากรเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 ก็กำลังทำให้การดูแลรักษาโรคอื่น ๆ ถูกจำกัดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก ourworldindata.org ประเมินว่า ในปี 2017 นั้นมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจมากถึง 17.8 ล้านคน ซึ่งโรคนี้ผมจะยังไม่ขอเขียนถึงในตอนนี้เพราะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว และเป็นโรคที่สามารถดูแลรักษาได้ดีในระดับหนึ่ง หากสามารถควบคุมน้ำหนัก กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและกินยาตามที่แพทย์สั่ง กล่าวคือเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงมากที่สุด แต่ความกลัวโรคนี้น่าจะน้อยกว่าความกลัว COVID-19 อย่างที่เทียบกันไม่ติด เพราะโรคหัวใจไม่ใช่โรคติดต่อนั่นเอง

แต่มีโรคที่ไม่ติดต่ออีกโรคหนึ่งซึ่งหลายคนรวมทั้งตัวผมเองกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง คือ โรคมะเร็ง ซึ่งจากตัวเลขของ wordometers.info ประเมินว่า ใน 8 เดือนของปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งไปแล้ว 5.12 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในปีที่แล้ว (2020) มีมากถึง 10 ล้านคน จากการประเมินของ Globocan ในการเก็บข้อมูลจาก 185 ประเทศ โดยประเมินจากโรคมะเร็ง 36 ชนิด (จากโรคมะเร็งทั้งหมประมาณ 100-120 ชนิด) โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตมนุษย์ในปี 2020 มากที่สุด 7 ประเภทแรก คือ มะเร็งที่

1.ปอด 1.8 ล้านคน

2.ตับ 0.83 ล้านคน

3.กระเพาะ 0.77 ล้านคน

4.เต้านม (ผู้หญิง) 0.68 ล้านคน

5.ลำไส้ใหญ่ 0.58 ล้านคน

6.หลอดอาหาร (esophagus) 0.55 ล้านคน

7.ตับอ่อน 0.47 ล้านคน

รวมทั้งสิ้น 5.68 ล้านคน

ผมไม่ได้นำเอาข้อมูลทั้งหมดมาเสนอเพราะจะเป็นการให้ตัวเลขมากเกินจำเป็น เนื่องจากจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากมะเร็งเพียง 7 ประเภทนั้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตจากการเป็นโรคมะเร็งทุกประเภท

แต่ผู้ที่สนใจรายละเอียดย่อมจะสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง แต่สำหรับผมนั้น ณ สภาวะปัจจุบัน คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะดูแลตัวเองอย่างไร ในยุคที่เราจะต้องอยู่บ้าน และไม่สามารถไปโรงพยาบาล เพื่อได้รับการตรวจร่างกายได้โดยง่าย

คำถามที่ตามมาคือ เราจะต้อง “กลัว” มะเร็งมากน้อยเพียงใด ? ซึ่งตัวเลขจากประเทศอเมริกานั้นสรุปว่า โอกาสที่จะเป็นมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่งในช่วงชีวิต (lifetime chance of getting cancer) นั้น เท่ากับ 39.5% (ข้อมูลปี 2015-2017) โดยผู้ชายนั้นมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง 40.14% และผู้หญิงเท่ากับ 38.7% ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านจะไม่ได้นึกว่า ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งสูงถึงขนาดนั้น ประเด็นต่อมาคือความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นสูงมากเพียงใด ? คำตอบคือสำหรับผู้ชายเท่ากับ 21.34% และสำหรับผู้หญิงเท่ากับ 18.33% ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ผมเชื่อว่าสูงกว่าที่หลายคนเคยประเมินเอาไว้

แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งกับความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งดังกล่าวนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ดังเห็นได้จากข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง 12 ชนิดหลักจะเห็นได้ว่าการเป็นมะเร็งบางประเภทนั้นมีความเสี่ยงสูงอย่างมาก เช่น การเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (12.1%) แต่ความเสี่ยงในการอยู่รอดหลังจากการตรวจพบโรคเป็นเวลา 5 ปีนั้นก็สูงมากเช่นกัน (98%) โดยความเสี่ยงจากการเสียชีวิตไม่สูงมาก (2.4%) ในทำนองเดียวกัน มะเร็งเต้านมนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างสูง แต่โอกาสเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้สูงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้มีการตรวจประจำปีและการใช้ชีวิตอย่างระวังตัวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในส่วนหลังนี้ ผมจะเขียนถึงในตอนหน้า

โรคมะเร็งที่เป็นกันมากและโอกาสเสียชีวิตสูง คือ มะเร็งปอด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสูงสุดก็คือ การสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่จากผู้สูบบุหรี่ ทำให้น่าจะสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้โดยไม่ยากมากนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเช่นกัน โดยตัวเลขจากสหรัฐ (The Epidemiology of Lung Cancer ในวารสาร Translational Lung Cancer Research June 2018) พบว่า

1.ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งที่ปอดนั้น สัดส่วน 53% มีอายุ 55 ถึง 74 ปี และสัดส่วน 37% มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 75 ปี

2.พบมะเร็งปอดมากที่สุดในผู้ชายอายุ 85-89 ปี (585.9 คนต่อ 100,000 คน หรือ 0.37%)

3.มะเร็งปอดเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดในการเสียชีวิตของผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 59 ปี

นอกจากนั้นก็ยังมีโรคมะเร็งประเภทอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยมากนัก แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก เช่น มะเร็งตับอ่อน ซึ่งความเสี่ยงที่จะเป็นเท่ากับ 1.6% แต่โอกาสที่จะเสียชีวิตจากมะเร็งดังกล่าวสูงถึง 1.4% ทำให้โอกาสอยู่รอดเป็นเวลา 5 ปี หลังการตรวจพบมีเพียง 10% เท่านั้น

โดยรวมนั้นต้องยอมรับว่า โรคมะเร็งเป็น “โรคของผู้สูงอายุ” ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งนั้นพบได้บ่อยที่สุดในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

ครั้งต่อไปผมจะเขียนถึงการดำเนินชีวิต (lifestyle) ซึ่งประเมินว่าในประเทศสหรัฐนั้น 42% ของการเกิดโรคมะเร็งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเอง และ 45% ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นก็เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (ที่ไม่ถูกต้อง) แปลว่า หากเราดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง เราจะสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง และการเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งได้เกือบครึ่งหนึ่งครับ