ธุรกิจไปต่ออย่างไร… เมื่อ Bubble & Seal คือต้นทุน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ ในภาคธุรกิจบ้านเรามีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้กันเป็นจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการแฟกตอรี่แซนด์บอกซ์ (factory sandbox) สำหรับสถานประกอบการที่เป็นโรงงาน การควบคุมเส้นทางการเดินทางจากโรงงานไปที่พัก-ที่พักไปโรงงาน หรือ bubble and seal

โดยโรงงานส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีควบคุมเส้นทางการเดินทางของพนักงานด้วยการเช่าอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม โรงแรมให้พนักงานพัก รวมถึงบริการอาหารและรถบริการรับ-ส่ง เข้าออกโรงงานเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และเพื่อให้สายการผลิตยังคงเดินหน้าต่อได้

นอกจากนี้ สถานประกอบการต่าง ๆ ยังถูกบังคับให้ใช้มาตรการการตรวจ ควบคุม และดูแลพนักงานด้วยการตรวจ RT-PCR เพื่อแยกคนติดเชื้อออกจากโรงงาน และเข้าสู่ระบบรักษาในโรงพยาบาล หรือมาตรการที่ระบุให้ผู้ประกอบการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ตรวจพนักงานในโรงงานทุกสัปดาห์ และการเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า community isolation ฯลฯ

เรียกว่า สารพัดมาตรการที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปฏิบัติ เพื่อลดการแพร่ระบาด และทำให้ภาคการผลิตสามารถเดินหน้า แรงงานไม่ถูกหยุดงานชั่วคราว และเป็นภาระของรัฐบาลในการจ่ายชดเชยรายได้

ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานั้นล้วนเพิ่มภาระและต้นทุนให้กับธุรกิจทั้งสิ้น

ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคธุรกิจหลายคนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบที่ทำให้ยอดขายสินค้าที่ลดลงอย่างมากแล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้ภาคธุรกิจยังต้องแบกรับภาระในส่วนของ “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้นมหาศาลจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และส่วนของบริษัทที่ต้องดำเนินมาตรการเองด้วย

โดยผู้ประกอบการหลายรายเล่าว่า มาตรการต่าง ๆ ที่เป็นภาคบังคับเหล่านี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาล และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งเป็นต้นทุนที่เอกชนต้องแบกรับอยู่ในขณะนี้

ที่สำคัญ ทำให้สัดส่วนต้นทุนด้านแรงงานขององค์กรที่เดิมสูงอยู่แล้วยิ่งสูงขึ้นไปอีก และสูงแซงหน้าต้นทุนค่าวัตถุดิบแล้ว จากปกติที่สัดส่วนต้นทุนแรงงานกับวัตถุดิบอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน

เมื่อธุรกิจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น บวกกับสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ หรือหากจะปรับเพิ่มก็ขึ้นได้ไม่เกิน 5% เท่านั้น

นั่นหมายความว่า สุดท้ายแล้วธุรกิจต่าง ๆ จะมี “กำไร” ที่ลดต่ำลงแน่นอน

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับภาคธุรกิจ ด้วยกลไกตลาดหยุดสายการผลิตก็ไม่ได้ แต่หากเดินหน้าก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้ต่อไป

ผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่งวิเคราะห์ว่า วิกฤตโควิดรอบนี้ถือเป็นสงครามแห่งชีวภาพ หลักการบริหารจัดการในรูปแบบเดิมคงไม่สามารถรับมือได้อีกต่อไป ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์และหยุดกิจกรรมทางสังคมไปเกือบครึ่งประเทศ

คำถามของธุรกิจต่าง ๆ ในขณะนี้คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลค้นหาแนวทางและวิธีการใหม่ ๆ โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหาร

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือคัดกรองผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ออกมาใช้ชีวิต และทำมาหากินกันแบบปกติ เครื่องมือที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของคนเราปลอดภัยและง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจในอนาคตด้วย

อีกประเด็นคือ ธุรกิจต่าง ๆ ของเราที่ถูกล็อกดาวน์มาเดือนกว่านั้น หากรัฐบาลปลดล็อกและปล่อยให้ธุรกิจต่าง ๆ กลับไปเปิดให้บริการได้ปกติตามคำเรียกร้องของภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ แต่ไม่มีเครื่องมือที่ยกระดับความปลอดภัยที่ดีออกมารองรับได้ แล้วการแพร่ระบาดกลับมารุนแรงเพิ่มขึ้นจะทำอย่างไร เพราะปัจจุบันจำนวนประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีสัดส่วนมากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว

และประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นคำถามว่า หากรัฐบาลยังคงบังคับให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ยังต้องใช้มาตรการควบคุมโควิดในรูปแบบเดิม ๆ ต่อไป ภาคธุรกิจที่ตกอยู่ในภาวะต้นทุนท่วมหัวเช่นนี้จะสามารถแบกรับ “ต้นทุน” ที่เกิดขึ้นได้กันนานแค่ไหน

และจะเดินต่อกันอย่างไร ทางรอดของธุรกิจคืออะไร

เพราะในระยะยาวแล้ว หากธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาลเช่นนี้ และรัฐบาลยังคงยึดแนวทางบริหารจัดการในรูปแบบเดิม ๆ เหมือนที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่าทุกธุรกิจไปต่อยากแน่นอน…