ผลิตแม่ปุ๋ยเอง โจทย์ท้าทาย ไทยพร้อมหรือไม่ ยุคราคาพุ่งสูงนำเข้าปีละ 5 หมื่นล้าน

ปุ๋ยเคมี
ระดมสมอง
กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับประเทศไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตร ซึ่งสินค้าเกษตรสร้างรายได้ส่งออกให้ประเทศได้สูงกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 15% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย แต่ที่ผ่านมาพบว่าไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าแม่ปุ๋ยเคมีคิดเป็นปริมาณและมูลค่ามากถึงปีละประมาณ 5 ล้านตัน และ 50,000 ล้านบาทตามลำดับ

ซึ่งตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ราคานำเข้าแม่ปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะผลิตแม่ปุ๋ยเองแทนการนำเข้า ? ความท้าทายของการผลิตแม่ปุ๋ยเองคืออะไร ?

ก่อนอื่นคงต้องมาทำความเข้าใจโครงสร้างของอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และสถานการณ์ราคาแม่ปุ๋ยตลาดโลกก่อนว่าเป็นอย่างไร ?

ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยกว่า 90% ของวัตถุดิบในกระบวนการผลิตปุ๋ยทั้งหมด โดยเป็นการนำเข้าปุ๋ยเชิงเดี่ยวหรือแม่ปุ๋ยถึง 55.9% ของการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด

แบ่งเป็นแม่ปุ๋ยไนโตรเจน 43.8% หรือนำเข้าปริมาณและมูลค่าที่ปีละ 2.5 ล้านตัน และ 20,000 ล้านบาทตามลำดับ โดยไทยนำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ มาเลเซีย และประเทศจีนเป็นหลัก

ส่วนแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมมีสัดส่วนการนำเข้า 12.0% หรือนำเข้าปริมาณและมูลค่าที่ปีละ 700,000 ตัน และ 7,000 ล้านบาทตามลำดับ นำเข้าจากประเทศแคนาดา เบลารุส อิสราเอล และเยอรมนี

สำหรับแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัสไทยสามารถผลิตใช้เองได้บางส่วน จึงมีสัดส่วนการนำเข้าเพียง 0.1% หรือนำเข้าปริมาณและมูลค่าที่ปีละ 5,000 ตัน และ 50 ล้านบาทตามลำดับ โดยนำเข้าจากประเทศอียิปต์และจีน

การพุ่งขึ้นของราคาแม่ปุ๋ยโดยเฉพาะไนโตรเจนที่เป็นแม่ปุ๋ยหลัก ซึ่งถูกนำไปผสมเป็นปุ๋ยสูตรหรือปุ๋ยเชิงประกอบ ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาปุ๋ยโดยรวมนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ราคาแม่ปุ๋ยตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่ปุ๋ยไนโตรเจน

โดยราคาในเดือนพฤศจิกายน 2021 ทำ new high ที่ 900.50 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงสุดในรอบ 12 ปีตามราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนขนส่งที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งผู้นำเข้ามีความกังวลกับปัญหา supply disruption ของประเทศผู้ผลิตหลายประเทศที่อาจส่งผลกับ supply ของแม่ปุ๋ย จึงเร่งนำเข้าเพิ่มขึ้น หนุนให้ราคาแม่ปุ๋ยตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น

จึงปลุกกระแสความคิดที่ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะผลิตแม่ปุ๋ยเองแทนการนำเข้า ?

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือสินแร่ แต่ยังคงมีข้อจำกัดบางประการในการผลิตแม่ปุ๋ยแต่ละชนิด

โดยปัจจุบันแม่ปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งมีวัตถุดิบ คือ ก๊าซธรรมชาติ แม้ประเทศไทยจะมีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติได้เอง แต่ยังไม่คุ้มค่าที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ย ส่วนใหญ่ใช้ทำผลิตภัณฑ์อื่นที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า

ส่วนแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัสทำมาจากเหมืองหินปูน ปัจจุบันเริ่มมีการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ สัดส่วนการนำเข้าจึงน้อยกว่าแม่ปุ๋ยอื่น ๆ

ในขณะที่แม่ปุ๋ยโพแทสเซียมที่ทำมาจากแร่โพแทช ซึ่งไทยมีปริมาณแร่โพแทชสำรองในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ระหว่างแม่ปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทช ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าอยู่นั้น การผลิตแม่ปุ๋ยโพแทชในไทยจึงมีความเป็นไปได้มากกว่า

แหล่งแร่โพแทชอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีปริมาณสำรองในระดับสูงถึง 407,000 ล้านตัน ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีความต้องการใช้แร่โพแทชเพียงปีละประมาณ 0.7 ล้านตัน โดยสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชคุณภาพดีหรือแร่ซิลไวต์ประมาณ 7,000 ล้านตัน และแร่โพแทชคุณภาพรองลงมาหรือแร่คาร์นอลไลต์อีกประมาณ 400,000 ล้านตัน

ทั้งนี้ แหล่งแร่โพแทชสำคัญประกอบด้วย แอ่งสกลนคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 17,000 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม หนองคาย และอุดรธานี

ส่วนแอ่งโคราช ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 33,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประทานบัตรเหมืองโพแทชไปทั้งสิ้น 2 โครงการในปี 2558 คือ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านตันต่อปี มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 โครงการยังอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อใช้ในขั้นตอนการผลิต

ความท้าทายของการทำเหมืองโพแทชคืออะไร ?

นอกจากปัจจัยด้านเงินลงทุนที่สูงแล้ว ความท้าทายของการทำเหมืองโพแทชยังมีปัจจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำเหมือง เช่น การปนเปื้อนในแหล่งน้ำทิ้ง น้ำใต้ดิน และน้ำบนดิน ทำให้แหล่งน้ำในบริเวณดังกล่าวไม่สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้

รวมทั้งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในเหมืองใต้ดินที่มาจากไอระเหยของน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ

ขณะที่การแต่งแร่จะปล่อยก๊าซที่เป็นอันตราย ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นเกลือโพแทช โซเดียมคลอไรด์ และฝุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนในบริเวณเหมือง

กรณีศึกษาในต่างประเทศพบการต่อต้านของชุมชนในบริเวณเหมืองจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในหลายประเทศ

แม้ว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจในบริเวณพื้นที่ทำเหมือง แต่ก็ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ซึ่งนำไปสู่กระแสการต่อต้านและการแสดงข้อเรียกร้องของชุมชน

เช่น การต่อต้านเหมือง Saskatchewan ในประเทศแคนาดาเมื่อปี 2003 ที่ชุมชนมีข้อเรียกร้องให้เหมืองแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาด้านแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนจนไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรได้ โดยเรียกร้องให้มีการทำแนวกันชน หรือ buffer zone เพื่อป้องกันการปนเปื้อนดังกล่าว

ส่วนในประเทศไทยเองการต่อต้านของชุมชนบริเวณที่จะทำเหมืองโพแทชก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจจนถึงขั้นตอนของการทดลองขุดเจาะ

เนื่องจากชุมชนในพื้นที่มีความกังวลถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านในชุมชน เช่น การต่อต้านของชาวบ้านในชุมชนอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่คัดค้านการสำรวจแหล่งแร่โพแทช

เนื่องจากชุมชนมีความกังวลว่าเหมืองแร่โพแทชจะแย่งแหล่งน้ำของชุมชน รวมถึงกระบวนการทำเหมืองอาจทำให้แหล่งน้ำที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรมอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีจากเหมืองจนทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้

ขณะเดียวกันกระบวนการขุดเจาะใต้ดินที่อาจทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและแผ่นดินทรุด

ตกลงไทยพร้อมหรือไม่ที่จะผลิตแม่ปุ๋ยโพแทชเอง ?

ในความเห็นของเรามองว่า ไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตแร่โพแทชได้ เนื่องจากมีปริมาณสำรองและคุณภาพของแร่สูง รวมถึงต้นทุนการผลิตแม่ปุ๋ยเองยังต่ำกว่าการนำเข้าประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือคิดเป็น 50% ของต้นทุนการผลิต

ซึ่งหากไทยผลิตแร่โพแทชเองจะช่วยลดการนำเข้าแม่ปุ๋ยได้ปีละ 7,000 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยให้กับเกษตรกร 20-30% ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของไทยถูกลงและแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น

รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจปุ๋ยเคมีขยายฐานตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนแม่ปุ๋ยถูกลง

นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีแนวโน้มเติบโตด้วย เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น

แต่กระนั้นความท้าทายด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมและการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้ได้

โดยเฉพาะในยุคที่การดำเนินธุรกิจจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแล (ESG)

แม้ว่าปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการทำเหมือง เช่น การใช้เทคโนโลยี flotation หรือถังตะกอนลอยมาใช้ในขั้นตอนการแยกหางแร่ของอุตสาหกรรมเหมืองโพแทช เพื่อลดผลกระทบจากการฟุ้งกระจายของหางแร่ไปยังบริเวณชุมชน เป็นต้น

แต่ก็ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการลงทุนจะมีความคุ้มค่าหรือไม่


นอกจากนี้ ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในระยะข้างหน้าอาจถูกกดดันเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาทดแทนตามกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย