ตรึงดีเซล แก้ค่าครองชีพ…ไม่จบ

ตรึงน้ำมัน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ หลังจากราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกฎกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเหลือพยุงราคาน้ำมันร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง จากการเข้าไปอุดหนุนทั้งราคาน้ำมันดีเซล และราคาก๊าซแอลพีจี หลังราคาในตลาดโลกขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่สามารถกู้เงินได้ตามเพดานที่ ครม.อนุมัติไว้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะต้องรออีกอย่างน้อย 2 เดือน

ซึ่งอัตราภาษีน้ำมันดีเซลที่รัฐจัดเก็บปัจจุบันในอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร คิดเป็นรายได้ภาษีสรรพสามิตที่ต้องเฉือนไปเดือนละ 5.7 พันล้านบาท รวมเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท

แต่นัยสำคัญการลดภาษีครั้งนี้จะช่วยต่อลมหายใจให้กระทรวงพลังงานได้มีความคล่องตัวในการบริหารราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรตามนโยบายรัฐบาล และฝ่าแรงกดดันของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่นำขบวน Truck Power Final Season มาค้างคืน ขู่ปรับขึ้นบริการค่าขนส่ง 20% ซึ่งจะกระทบไปยังภาคการผลิตและขนส่งสินค้า ลามถึงปัญหาค่าครองชีพประชาชน เพราะปัจจุบันสัดส่วนการใช้ดีเซลประมาณ 60-70 ล้านลิตรต่อวัน

แน่นอนที่ว่าหากตรึงดีเซลไว้ได้ เท่ากับจะตัดปัจจัยที่กดดันผู้ผลิตสินค้า ให้ปรับราคาก็หายไป 1 รายการ แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วยมาตรการนี้ “ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” 
เพราะเอกชนคงไม่สามารถช่วยตรึงราคาสินค้าไปได้ตลอด หากต้นทุนด้านอื่น ๆ ทั้งค่าแพ็กเกจจิ้งพลาสติก กระดาษ กระป๋อง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 
ค่าปุ๋ย ค่ายา อาหารสัตว์ และค่าแรง ยังขยับขึ้น

จึงขึ้นอยู่กับ “สายป่าน” ของผู้ประกอบการแต่ละราย ว่าจะแบกรับต้นทุนเหล่านี้ไปได้นานแค่ไหน “รายย่อยสายป่านสั้น” จะกระทบก่อน นี่ถือเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไป ที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ หากห่วงโซ่การผลิตขาด เอสเอ็มอีหนี้เน่าจะตามมา และเลวร้ายที่สุดสินค้าไม่มีป้อนสู่ตลาด คนที่จะเดือดร้อนที่สุด คือ “ประชาชน”

ยังไม่นับรวมระเบิดลูกต่อไปของปัญหาค่าครองชีพ ซึ่งอาจจะไม่ได้มาจากเฉพาะดีเซลขึ้นราคาเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนด้านอื่น ๆ ในการใช้ชีวิตที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการอุดช่องโหว่ช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง

ทั้งราคาน้ำมันเบนซินที่จะกระทบรถบ้าน หรือแม้แต่คนตัวเล็กอย่างวินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ ที่ต้องเดือดร้อนจากราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินขยับขึ้นไป ลิตรละ 5 บาทในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้มที่กำลังจะขยับอีกในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นแรงกดดันที่จะซ้ำเติมคนหลายล้านครอบครัวที่บอบช้ำจากวิกฤตโควิดมาแล้วกว่า 2 ปี

ขณะที่ระดับค่าครองชีพเท่าเดิม แต่ความช่วยเหลือกลับเหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า ซ้ำยังขาดแผนการหารายได้ที่ชัดเจนในอนาคต มองเห็นแต่เส้นทางการกู้ กู้ กู้ หนี้สินพอกพูน และอาจบานปลายสู่การสร้างหนี้ก้อนใหม่ จำเป็นที่จะต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะขั้นต่อไป จาก 60% เป็น 70% หรือไม่


ความเดือดร้อนนี้อาจกลายเป็นมรดกไปถึงรุ่นลูกหลานที่ต้องมาแบกรับภาระการใช้หนี้ในอนาคตก็เป็นได้