กฎโลกใหม่และตัวเราเอง

beyond
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

 

วิกฤตโควิด-19 เพิ่มอัตราเร่งในการเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในทุกภาคส่วน โลกก่อน และหลังการมีอยู่ของโควิด-19 เปลี่ยนไปมาก

“สมาร์ทโฟน” กลายเป็นทุกสิ่ง ช็อปปิ้งออนไลน์ และการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม “ฟู้ดดีลิเวอรี่” เป็นนิวนอร์มอลของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ในงานสัมมนา “BEYOND THE FUTURE ธุรกิจ-ชีวิต-การลงทุน” ของประชาชาติธุรกิจ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด บอกว่าช่วงโควิดที่ผ่านมา 2 ปีกว่า ธุรกิจที่โดนกระทบต้องลดพนักงาน เก็บเงินสดให้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ old physical economy แต่ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจอีกมากที่โตก้าวกระโดด ซึ่งล้วนอยู่ใน new economy business มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป

ในทุกวิกฤต และการเปลี่ยนแปลง มีโอกาสใหม่เสมอใครปรับตัวได้ก็อยู่รอด ไปต่อได้ ปรับไม่ได้ก็อาจล้มหายตายไป เป็นเรื่องปกติ

แม้แต่ในระดับพนักงานก็ไม่ต่างกัน มีทั้งกลุ่มที่โดนให้ออกจากงาน และกลุ่มที่เป็นที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับตัว เรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ได้ทันความต้องการที่เปลี่ยนไปได้มากแค่ไหน ถ้าปรับได้ก็อาจเปลี่ยนโหมดมาอยู่ในกลุ่มมนุษย์ทองคำเป็นที่ต้องการของบริษัทใหญ่ ๆ ได้

โลกใน 10 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนไปในอัตราเร่งที่เร็วกว่า 10 ปีก่อนหน้าที่เราจะรู้จัก “ไอโฟน” มาก

ถ้าลองนับ 1 ถึง 10 ในใจ ชั่วเวลาแค่ 10 วินาที เสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่ “กูเกิล” ทำเงินไปแล้ว 6 แสนบาทใน 10 วินาทีเท่ากัน “แอปเปิล” ทำเงินได้ถึง 1.7 ล้านบาท แต่อีกฟากของโลกคนส่วนใหญ่กลับมีรายได้เฉลี่ยแค่ 6 สตางค์เท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นกับโลกใบเดียวกันนี้ สิ่งนั้นเรียกว่า digital devide-ความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

10 ปีที่แล้ว เรายังไม่ได้ใช้ ไลน์, อินสตาแกรม, ไอแพด, แกร็บ, บิตคอยน์ หรือบล็อกเชนด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงใน 10 ปีที่ผ่านมายังเร็วไม่เท่า 10 ปีข้างหน้า

โลกจะขยับเขยื้อนแบบก้าวกระโดดมีธุรกิจโมเดลใหม่ เกิดขึ้น และประสบความสำเร็จในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น เช่น AliPay-WeChat ใช้เวลา 6 ปี ทำให้คนจีนกว่า 1.4 พันล้านคน ไม่ใช้เงินสด

เราจะอยู่ฝั่งไหนจะเป็น exponential winner หรือ exponential loser

การทำธุรกิจเหมือนการเล่นเกม 1.ต้องเข้าใจกฎของเกม 2.ต้องมี strategy ที่สอดคล้องกับกฎของเกม ถ้าวันหนึ่งกฎของเกมเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน mindset ถ้ายังยึดติดกับกฎเดิม ใช้ strategy เดิมก็จะไม่สามารถเป็นผู้ชนะในโลกอนาคตได้ และจะชนะในเกมโลกใหม่ต้อง unlearn กฎเก่า และ relearn กฎใหม่ได้

เวทีเดียวกัน “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (ABC) ชวนตั้งคำถามถึงสิ่งที่เล็กที่สุดในโลก และยังคงจะมีอยู่เหมือนเดิม นั่นคือ “ตัวเราเอง-มนุษย์”

ไม่ว่าจะใน 15 ปี หรือใน 200 ปีที่ผ่านมา ดีเอ็นเอ, ฮอร์โมนมนุษย์ ไม่ได้เปลี่ยน และยังมี “รัก-โลภ-โกรธ-หลง” เหมือนเดิม

“โลกที่เหมือนเดิม คือตัวเรา เมื่อเจอการเปลี่ยนแปลง เราจะตอบสนองโดยเร็ว หรือคิดกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร”

จากประสบการณ์ที่เคย “ล้ม-ลุก-เรียนรู้” มาก่อน พบว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง “ยิ่งล้มเหลว ยิ่งสำเร็จ”

“เวลาเราบอกว่า ความสำเร็จมาจากอะไร มาจากการตัดสินใจที่ถูก การตัดสินใจถูกมาจากประสบการณ์ ซึ่ง ประสบการณ์ที่สอนให้เราตัดสินใจถูกมาจากการตัดสินใจที่ผิด เมื่อผิด ถึงมีประสบการณ์ ต้องแป้ก ล้มเหลวมาก่อน”

ประสบการณ์เดิม ๆ อาจใช้ไม่ได้ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

“เวลาเราพูดถึงหนทางแห่งความสำเร็จ ในภาษาพุทธมีคำว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ฉันทะคือรักในสิ่งที่ทำ เราก็จะวิริยะ คือขยัน จิตตะ คือ โฟกัส ส่วนวิมังสา คือ แก้ไขปรับปรุง ทดลองใหม่”

ตอกย้ำคำกล่าวที่ว่า ทำไม “ยิ่งล้มเหลวถึงยิ่งสำเร็จ”