Care the Wild ตลาดหลักทรัพย์-โกลบอลกรีนฯปลูกป่าชุมชนทองผาภูมิ

ปลูกป่า

“ป่า” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ เพราะเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค รวมถึงยังเป็นลมหายใจให้ทุกชีวิตมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงอยู่เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อมนุษย์ตักตวงผลประโยชน์จากป่ามากจนเกินพอดี จำนวนป่าจึงลดลงอย่างน่าใจหาย ส่งผลให้สมดุลของธรรมชาติเสียไป โลกจึงต้องเผชิญวิกฤตมากมาย อาทิ ภาวะโลกร้อน น้ำท่วมสูง ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการทำให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่สมดุลอีกครั้ง และลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก จึงเป็นที่มาของ โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และกรมป่าไม้

รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างภาวะสมดุลให้สภาพภูมิอากาศของโลก และยังทำงานร่วมกับชุมชนเข้มแข็งซึ่งจะดูแลการปลูกต้นไม้ให้รอด 100% เพื่อประโยชน์ของชุมชนในการเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติอีกด้วย

โดยล่าสุดในฤดูปลูกของปีนี้ คือระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ของโครงการฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯและกรมป่าไม้ ผนึกความร่วมมือกับบริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จํากัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทจดทะเบียนผู้บุกเบิกด้านผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี (ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์)

พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านจิตอาสา 5 หมู่บ้าน ลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ 4,000 ต้น บนผืนป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่

วโรภาส กิมชูวาณิช
วโรภาส กิมชูวาณิช

“วโรภาส กิมชูวาณิช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพาณิชยกิจ บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จํากัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนในอดีตผ่านมามุ่งเน้นแต่มิติด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก จนอาจละเลยมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

แต่วันนี้เราต่างตระหนักว่าการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ มุ่งเน้นแต่กำไรไม่ตอบโจทย์ และไม่ยั่งยืน เพราะทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังจะเห็นว่าบางครั้ง ใน 1 วันมีถึง 4 ฤดู ซึ่งโลกกำลังบอกเราว่าอยู่ในจุดวิกฤต ฉะนั้นภาคเอกชนจึงต้องหันกลับมามองที่การพัฒนาแบบยั่งยืนมากขึ้น คือมุ่งเน้นความสำคัญกับผลกระทบต่อโลกทั้งภายในและนอกองค์กร

โดยในส่วนของ GGC เรามีการลงทุนในเรื่องประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงานให้น้อยลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงแดด หรือพลังงานลม แต่ทั้งนี้เราพบว่ายังไม่มากพอ เราจึงร่วมโครงการ Care the Wild ครั้งนี้ โดยปลูกต้นไม้ 4,000 ต้น พื้นที่ 20 ไร่ ของป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม

ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่มีชื่อเสียง โดยตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งต้นน้ำชุมชนห้วยดินโส มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น หญ้าถอดปล้อง 400 ล้านปี, ปูร้อยสี, จักจั่นงวงช้าง, ต้นไทรขนาดใหญ่, ดงตาว, ดงจันทน์ผา และสัตว์ป่ามากมาย

ทั้งยังมีไฮไลต์สำคัญคืออุโมงค์ 3 มิติ ยาว 2,400 เมตร ที่สามารถขับรถยนต์ทะลุไปอีกช่องอุโมงค์หนึ่งที่เป็นเหมืองตะกั่วเก่าได้ สิ่งเหล่านี้นับเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพื่อรองรับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้เพื่อให้โลกของเราดูสะอาดขึ้น ทั้งยังช่วยลดภัยแล้ง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับต้นน้ำ ที่สำคัญคือยังสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบ ผมจึงอยากเชิญชวนเพื่อน ๆ ในภาคธุรกิจทุกท่านมาร่วมกันให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม

เพราะการพัฒนาในอนาคตไม่ว่าจะภาคธุรกิจใดก็ตาม ต้องเน้นความยั่งยืน เราไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งสำคัญคือการมุ่งหวังผลประโยชน์สูงสุด ทั้งกับบริษัทเองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งยังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเราทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับป่าและต้นไม้

สิ่งเหล่านี้จึงไม่ควรละเลย เพราะป่าคือปอดสำคัญของโลกใบนี้ หากร่วมกันปลูกต้นไม้ ไม่เพียงได้ความร่มรื่น ได้ครัวที่เต็มไปด้วยอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับสู่สมดุลอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ประลอง ดำรงค์ไทย
ประลอง ดำรงค์ไทย

“ประลอง ดำรงค์ไทย” อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะทำงานพิจารณาพื้นที่ปลูกป่า โครงการ Care the Wild กล่าวว่า วิกฤตโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น

หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีคือการช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่า ปลูกต้นไม้ เพราะตราบใดที่เรายังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ เราจึงต้องนำต้นไม้มาช่วยดูดซับ

อย่างโครงการ Care the Wild เกิดจากความร่วมมือ 3 ประสาน ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มาช่วยกันนำต้นไม้มาปลูกในพื้นที่ป่าชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักจัดการป่าชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการมา 2-3 ปี เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นหลัก หลังจากนำต้นไม้มาปลูกจะให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลต่อเนื่องไปอีกหลาย ๆ ปี ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จพอสมควร สมมติว่าเราปลูกต้นไม้ 100 ต้น ต้นไม้จะเติบโตสมบูรณ์ทุก 100 ต้น

อันสอดคล้องกับเป้าหมายที่เราอยากให้การปลูกรอด 100% อีกเป้าหมายหนึ่งคือการให้ชุมชนได้ประโยชน์จากป่า เพราะต้นไม้ที่เรานำมาปลูกส่วนใหญ่จะเป็นไม้ยืนต้น แต่อีก 20-30% จะเป็นไม้ผล หรือต้นไม้ที่ให้ผลผลิตได้ อาทิ ต้นแค ต้นขี้เหล็ก ฯลฯ

เพราะเมื่อไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นไป จะกลายเป็นทรัพยากรอาหารที่ชุมชนสามารถเข้ามาเก็บของป่าเพื่อใช้บริโภคตามวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น จนเป็นครัวที่มีอาหารมากมาย เก็บกินได้ตลอดปี ไม่มีอด และยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่งด้วย”

นันทนา บุณยานันต์
นันทนา บุณยานันต์

“นันทนา บุณยานันต์” ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กล่าวเสริมว่า รูปแบบการปลูกป่าครั้งนี้ถือเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จ เพราะเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ กรมป่าไม้ โดยสำนักจัดการป่าชุมชน ภาคเอกชน

เชื่อมโยงกับประชาชนที่มีหัวใจรักษ์ป่าเป็นผู้ปลูกต้นไม้และดูแลทุกต้น เพื่อให้เจริญเติบโตกลายเป็นป่าใหญ่ในอนาคต โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีคอยเป็นพี่เลี้ยง ให้ความรู้ตลอดเวลา

กรมป่าไม้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสนับสนุนปลูกต้นไม้ดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีป่าชุมชนอยู่ทั่วประเทศกว่า 11,327 แห่ง เนื้อที่กว่า 6.29 ล้านไร่ สำหรับป่าชุมชนตำบลสหกรณ์นิคม มีพื้นที่กว่า 1,800 ไร่ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีผ่านมา

ชุมชนพยายามต่อสู้อย่างหนักจากผู้บุกรุกป่า อีกทั้งยังเกิดไฟไหม้ป่าอยู่บ่อยครั้ง กรมป่าไม้จึงพยายามสนับสนุนและผลักดันให้ป่าแห่งนี้กลายเป็นป่าชุมชน จนได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2557 จนมีสมาชิกป่าชุมชนอย่างเป็นทางการ

เพราะตอนนี้มีพระราชบัญญัติป่าชุมชนว่าคณะกรรมการป่าชุมชนมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งคือเจ้าหน้าที่ป่าชุมชนและทุกคนจะมีบัตรประจำตัว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ออกให้ เพื่อให้พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่างเป็นทางการ

“ขณะเดียวกัน เรายังมีกลไกช่วยภาคธุรกิจในเรื่องของการลดหย่อนภาษี บริษัทไหนที่เข้ามาร่วมโครงการสามารถนำกิจกรรมนี้ไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย อีกกลไกหนึ่งคือการแบ่งปันผลประโยชน์คาร์บอนเครดิต ส่วนประชาชนแน่นอนว่าจะได้แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร จะเห็นว่าทุกภาคส่วนต่างได้รับผลประโยชน์ไปด้วยกัน”

ขณะที่ “ผู้ใหญ่เฉลิมพล สันติธรรมสุทธิ์” รองประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านสหกรณ์นิคมกล่าวว่า ป่ากับป่าชุมชนมีความต่างกัน ป่าคือต้นไม้ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ส่วนป่าชุมชนเป็นป่าที่ให้สิทธิ อำนาจกับชุมชนในการดูแล สามารถหาประโยชน์จากการเก็บของป่ามาบริโภคได้ และจากการจัดตั้งป่าชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อสร้างความตระหนักแก่ชุมชนในการร่วมกันหวงแหนป่า

เพราะสมัยก่อนยังไม่ได้เป็นป่าชุมชน ชาวบ้านจะเข้าไปหาของป่า ตักตวงผลประโยชน์โดยไม่สนใจว่าจะทำลายธรรมชาติ หรือหลงเหลือของป่าในปริมาณน้อยแค่ไหน เพราะไม่ใช่ของตนเอง จนที่สุดผืนป่าค่อย ๆ ร่อยหรอลงไป

“แต่ภายหลังการจัดตั้งป่าชุมชน เราพยายามให้ความรู้กับชาวบ้านว่าทำไมเราต้องช่วยกันบริหารจัดการ ให้ความรู้ว่าต่อจากนี้จะหาของป่าอย่างไรโดยไม่ทำลายธรรมชาติ และควรเว้นให้ผลผลิตเติบโตในช่วงฤดูกาลใด รวมถึงสร้างความตระหนักในการหวงแหนป่า มีความเป็นเจ้าของ ช่วยสอดส่องดูแลว่าจะมีคนมาบุกรุกหรือไม่

ซึ่งการบริหารป่าต่อจากนี้จะมีระบบระเบียบมากขึ้น การมีโครงการฯนี้เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องน่าภูมิใจ เพราะเมื่อก่อนแทบไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามา เพราะป่าตอนนี้ค่อย ๆ ไกลตัวผู้คนออกไป แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเองยังมาดูแลป่าน้อยลงเรื่อย ๆ ผมจึงหวังว่าโครงการจะสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้เรื่อย ๆ”

“ดังนั้น หากองค์กรใดสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงาน แก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน และประสงค์ร่วมปลูกป่าไปพร้อมกับ SET สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Care the Wild : ปลูกป้อง Plant & Protect”

ด้วยการสมทบทุนปลูกต้นไม้ และดูแลป่าเพียงต้นละ 220 บาท โดย 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 200 ต้น ด้วยเงื่อนไขต้องรอดทุกต้น และมีการรายงานผลการเติบโตต่อเนื่อง 10 ปี แค่นั้นเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยโลกใบนี้ให้น่าอยู่ต่อไป”