แสนสิริ Zero Dropout เด็กราชบุรีทุกคนต้องได้เรียน

แสนสิริ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาชัดเจนมากขึ้น ผลเช่นนี้จึงทำให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจที่อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

จึงได้ออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาทเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมรวมพลังคนไทยสนับสนุนโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” มุ่งช่วยเด็กทุกคนที่อยู่ในช่วงวัยระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) มีโอกาสเรียนหนังสือ พร้อมกับช่วยลดจำนวนเด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปี

โดยมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งปัจจุบันแสนสิริปั้น “ราชบุรีโมเดล” พร้อมกับให้ “อำเภอสวนผึ้ง” เป็นอำเภอนำร่องก่อนขยายผลไปอีก 9 อำเภอในจังหวัดราชบุรี

สมัชชา พรหมศิริ

“สมัชชา พรหมศิริ” Chief of Staff ฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยมีต้นทุนเดิมตั้งแต่ก่อนโควิด-19 โดยมีเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในวัยเรียนปฐมวัยถึงมัธยมศึกษากว่า 1.9 ล้านคน ที่แต่เดิมมีปัญหารายได้น้อย ขาดโอกาสต่าง ๆ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาจึงสร้างความเสี่ยงให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดราชบุรี อ้างอิงจากข้อมูลระบบ iSEE ของ กสศ. พบว่า มีเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษากว่า 11,200 คน แบ่งเป็นเด็กปฐมวัย 3-5 ปี 66% เด็กประถมศึกษา 6-11 ปี 26% และเด็กมัธยมศึกษา 12-15 ปี 8% แต่สำหรับข้อมูลเฉพาะอำเภอสวนผึ้งพบว่ามีเด็กช่วงอายุ 3-14 ปี และนับรวมถึง 17 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา 3,592 คน

ขณะที่เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามีจำนวน 7,650 คน แต่ยังมีบางส่วนที่มีความเสี่ยงกำลังจะหลุดจากการศึกษาเช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องรีบดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้เด็กช่วงวัยระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) ในสวนผึ้งทุกคนได้เรียนและไม่หลุดจากระบบการศึกษาให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2565

สถานการณ์ของอำเภอสวนผึ้งชี้ให้เห็น 2 สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ หนึ่ง ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา สูงกว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนมาก สอง การประเมินผลตอบแทนจากการศึกษาในอนาคตของครัวเรือนที่ยากจนและยากจนพิเศษ ทำให้บุตรหลานต้องหารายได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ดังนั้น การศึกษาแบบเต็มเวลาหลังภาคบังคับหรือมหาวิทยาลัยจึงไม่ตอบโจทย์พวกเขาเท่าไหร่นัก

“ดังนั้น การที่เราทำงานกับ กสศ.ก็เพื่อติดตามผลงาน และประสานกลไกท้องถิ่น-พื้นที่ด้วยการระดมความร่วมมือค้นหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ ทั้งยังติดตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียนหนังสือ พร้อมกับส่งเสริมสนับสนุนและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้กลุ่มเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบมีโอกาสเรียนหนังสือต่อไป”

“สมัชชา” กล่าวต่อว่า นอกจากเป้าหมายหลักในการลดจำนวนเด็กหลุดจากการศึกษาให้เป็นศูนย์ ตามโครงการ Zero Dropout นอกจากจะช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย

หากยังสร้างแรงกระเพื่อมในหมู่พนักงาน ลูกบ้านแสนสิริและสังคมผ่านการรับบริจาคอุปกรณ์การเรียน และการระดมพลังความร่วมมือของทุกคนให้มีส่วนร่วมในการช่วยส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่ดีอย่างเสมอภาคตลอดช่วงระยะเวลาโครงการ

โดยครั้งนี้แสนสิริรับบริจาคหนังสือจากพนักงานและลูกบ้านแสนสิริรวมกว่า 2,500 เล่ม พร้อมยกทัพพนักงานแสนสิริและพนักงานสีทีโอเอรวมกว่า 40 ชีวิต ลงพื้นที่ซ่อมแซมห้องสมุดให้กับโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้งด้วยเช่นกัน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

“ดร.ไกรยส ภัทราวาท” ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า โครงการ Zero Dropout วางโรดแมปทำงานใกล้ชิดระหว่างกลไกท้องถิ่น-พื้นที่ของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายโรงเรียน นายอำเภอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ภาคประชาสังคม และวิชาการ

รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นภาคีภาควิชาการในพื้นที่ที่ช่วยวางแผนงานและสร้างฐานข้อมูลเชิงลึกให้เกิดระบบติดตามดูแลช่วยเหลือให้เด็กไม่หลุดจากการศึกษาอย่างยั่งยืน

การทำงานโครงการ Zero Dropout ช่วง 3 เดือนแรก เป็นการเรียนรู้บริบทพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่จริง เป็นการเคลื่อนงานจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ iSEE ที่ช่วยชี้เป้า และสะท้อนสภาพปัญหาระดับจังหวัดสู่ภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายภาคีการทำงานระยะยาว

จากการลงพื้นที่เพื่อสร้างความชัดเจนถึงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เข้าใจสภาพปัญหาของนักเรียน คุณครู และโรงเรียนเป็นข้อมูลรายคนและรายโรงเรียนชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งกลุ่มเด็กที่มีแนวโน้มการหลุดออกจากระบบโรงเรียนในจังหวัดราชบุรีได้เป็น 2 กลุ่ม สาเหตุสำคัญได้แก่

หนึ่ง ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาสูงกว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนมาก (high education cost to earning) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนครอบคลุมจากโครงการเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล และมักจะสูงเป็นพิเศษสำหรับนักเรียนยากจนพิเศษที่มีความด้อยโอกาสหลายมิติซ้ำซ้อนทั้งด้านสุขภาพ สภาพครอบครัว และความทุรกันดารห่างไกลของที่อยู่อาศัย

สอง ผลตอบแทนจากการศึกษาในอนาคต (perceived benefits of education) ของครัวเรือน เนื่องจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษจำเป็นต้องให้บุตรหลานเริ่มทำงานหารายได้ตั้งแต่เข้าสู่วัยแรงงานเมื่ออายุ 15 ปี

ดังนั้น การศึกษาต่อแบบเต็มเวลาหลังภาคบังคับหรือมหาวิทยาลัยจึงไม่ตอบโจทย์ที่เร่งด่วนของครัวเรือนเหล่านี้ การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนจึงต้องอาศัยมาตรการลดต้นทุนการศึกษา และส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ของประชากรกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้ในพื้นที่

“ตอนนี้การเคลื่อนงานด้านความช่วยเหลือได้เริ่มการช่วยเหลือกลุ่มที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษาที่เป็นนักเรียนชั้น ป.6 เพราะเป็นกลุ่มรอยต่อของการเปลี่ยนโรงเรียน โดยในอำเภอสวนผึ้งเป็นกลุ่มที่ต้องการการศึกษาพิเศษ มีทั้งเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ พิการ หรือบางคนก็หลุดการศึกษาไปแล้ว 1 ปีเต็ม

รวมทั้งในช่วงการระบาดหนักของโควิด-19 เด็กกลุ่มนี้แทบไม่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนออนไลน์ ทำให้ต้องการช่วยเหลือในการหาโรงเรียนที่จะต้องศึกษาในระดับชั้นต่อไป เช่น โรงเรียนรุจิรพัฒน์ เป็นโรงเรียนประจำที่มีรูปแบบเฉพาะทางในการดูแลเด็กโดยไม่เน้นวิชาการ แต่จะมุ่งไปยังกิจกรรมฝึกอาชีพ ค้นหาความถนัดของตัวเอง และส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม”

ขณะเดียวกัน ยังมีการเชื่อมต่อไปยังสถาบันการศึกษาสายอาชีพ 5 สถาบัน ซึ่งพร้อมรองรับเด็กเมื่อจบชั้น ม.3 และมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อ รวมถึงยังร่วมมืออย่างต่อเนื่องในระยะยาว ในการผลักดันเข้าสู่สถานประกอบการในอนาคต

“ดร.ไกรยส” กล่าวต่อว่า กสศ.ทำงานใกล้ชิดกับ มจธ. ซึ่งเป็นภาคีภาควิชาการในพื้นที่มาช่วยกันวางแผนงาน (roadmap) ในการทำงานให้ครอบคลุม ไม่เพียงแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลเชิงลึก เพื่ออำนวยให้เกิดระบบติดตามดูแลช่วยเหลือที่จะเข้ามาช่วยเหลือป้องกันการออกกลางคันในอนาคต พร้อมกับช่วยพัฒนาออกแบบกลไกการช่วยเหลือและนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่

นอกจากนั้น ยังเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือของคนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล/เทศบาล และจังหวัด ภาคีประชาสังคม และเครือข่ายวิชาการพื้นที่ จนทำให้เกิดการร่วมมือกันในฐานะเจ้าภาพจัดการพื้นที่การศึกษา (area-based education) เพื่อให้เกิดวาระความเสมอภาคทางการศึกษา และมีแนวทางและกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

“นิรันดร สีหาราช” ปลัดอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า สวนผึ้งเป็นอำเภอนำร่องแห่งแรกของโครงการ Zero Dropout ดังนั้น จึงเป็นต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งมีความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง

และตระหนักว่าต้องสร้างโอกาส และพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกับการสร้างระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตามบริบทของพื้นที่และความสามารถทางการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมกับการพัฒนาทักษะความรู้อย่างเต็มศักยภาพ และสามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงชีวิต

“การเดินหน้าของท้องถิ่นที่ร่วมมือกับภายนอก ทั้ง กสศ. และแสนสิริ จะทำให้โอกาสทางการศึกษาที่อำเภอสวนผึ้งเปิดกว้างขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งยังจะเป็นโมเดลที่สามารถขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาตามแนวทางของตนเองอย่างเหมาะสมตามวัยโดยไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา

ที่สำคัญยังเป็นการช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเข้ามาทดแทนอัตรากำลังแรงงานในอนาคต เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้มีคุณค่าเราต้องช่วยกันรักษาและดูแลทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เพราะการศึกษาคือฐานรากสำคัญในชีวิต”

นับว่าแสนสิริมุ่งมั่นส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย และขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมไทย อันเป็นภาคส่วนสำคัญของ 4 เสาสังคมของแสนสิริ ได้แก่ ลูกค้า, พนักงาน, ผู้ถือหุ้น และสังคม