บ้านปู จับมือ คณะสิ่งแวดล้อมฯ ม.มหิดล สานต่อค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 17

บ้านปู จับมือ คณะสิ่งแวดล้อมฯ ม.มหิดล สานต่อค่ายเพาเวอร์กรีน

บ้านปู ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ครั้งที่ 17 ส่งเสริมให้เยาวชนนำความรู้ไปพัฒนาทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน สังคม และประเทศชาติ

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสานต่อค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “Climate Change, We Must Change–เริ่มเพื่อโลก” เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภาคทฤษฎีแบบเข้มข้น และภาคปฏิบัติด้วยการลงพื้นที่ เรียนรู้ปัญหาเชิงลึก

รวมถึงการพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เยาวชนนำองค์ความรู้ไปประยุกต์เพื่อพัฒนาทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นรากฐานนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนในอนาคต

โดยโครงการค่าย “เพาเวอร์กรีน” ในปีนี้ มีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 285 คน จาก 177 โรงเรียน 65 จังหวัด ซึ่งผู้สมัครได้จัดทำคลิปวิดีโอเสนอแนวคิดและความเข้าใจเรื่องผลกระทบของ Climate Change ต่อชุมชนที่อาศัยและแนวทางการแก้ไขปัญหา ก่อนคัดเลือก 50 เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

สำหรับกิจกรรมในปีนี้ เริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐาน เรียนรู้ปัญหา เข้าใจสาเหตุ และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ภาคสนามระหว่างวันที่ 18-25 ตุลาคม 2565 ภายใต้แนวคิดของค่ายฯ “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม–เรียนรู้สู่การปฏิบัติ”

โดยเยาวชนได้ลงพื้นที่จริง เพื่อศึกษาถึงปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ก่อนระดมความคิดสร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสถานที่แรกของการลงพื้นที่จริงคือ ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นที่อาศัยของนกมากกว่า 200 ชนิด เช่น นกกระเต็น นกกระยาง นกกาน้ำ นกนางนวล นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอาศัยของ กุ้ง หอย ปู ปลาจำนวนมาก ทำให้อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำประมง ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอย

แต่ปัจจุบันบ้านขุนสมุทรจีน เป็น 1 ใน 800 กว่าตำบลที่ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีอัตรา
การกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี ระยะทางที่ถูกกัดเซาะราว 12.5 กิโลเมตร พื้นดินหายไปแล้ว 1 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดปัญหาปัญหาน้ำท่วม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องอพยพโยกย้าย ส่งผลให้จากที่มีประชากรในพื้นที่ราว 200 ครัวเรือน เหลืออยู่เพียง 70 กว่าหลังคาเรือน

โดยชาวบ้านที่ยังปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านเดิม ต้องย้ายบ้านเข้ามาในฝั่งอย่างน้อย 4-5 ครั้ง เนื่องจากการกัดเซาะชายฝั่งทำให้บ้านเรือนได้รับผลกระทบ โฉนดที่ดินที่เคยครอบครองกลายไปอยู่ในทะเล ส่งผลให้ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และปัญหานี้ยังเกิดกับสถานที่ราชการในหมู่บ้านหลายแห่ง เช่น โรงเรียน และสถานีอนามัยของชุมชน

"วัดขุนสมุทราวาส" หรือ "วัดขุนสมุทรจีน"
“วัดขุนสมุทราวาส” หรือ “วัดขุนสมุทรจีน”

ในขณะที่ “วัดขุนสมุทราวาส” หรือ “วัดขุนสมุทรจีน” เดิมที่ดินโดยรอบเคยมีขนาดถึง 70 ไร่ แต่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเหลือพื้นที่เพียงประมาณ 5 ไร่ โบสถ์ของวัดจมหายไปครึ่งหลังอยู่ใต้ทะเลจึงต้องยกพื้นโบสถ์สูงกว่า 1 เมตร เพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วมสูงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันวัดได้กลายสภาพเป็นเกาะที่ยื่นออกไปในทะเล

นอกจากจังหวัดสมุทรปราการที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ยังมีอีก 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลของไทยทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาการกัดเซาะในอัตรา 1-5 เมตรต่อปี โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและมีการกัดเซาะขั้นรุนแรงมากที่สุดของประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากถึง 30 เมตรต่อปี กินระยะทางยาว 82 กิโลเมตร โดยมีการคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าบางพื้นที่อาจรุนแรงถึง 65-85 เมตรต่อปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบจากภาวโลกร้อน

ทั้งนี้ เยาวชนทั้ง 50 คน ที่เข้าค่ายเพาเวอร์กรีนและพนักงานบ้านปูจะได้เรียนรู้เรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไป เรียนรู้ถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี รวมถึงเรียนรู้วิธีการปรับตัวของชาวชุมชนที่ต้องต่อสู้เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ

รัฐพล สุคันธี
รัฐพล สุคันธี

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอด 17 ปี ของค่ายเพาเวอร์กรีน เราได้เห็นแล้วว่ามีเยาวชนจำนวนมากที่มีความมุ่งมั่น และต้องการเข้ามามีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตัวเองอยู่อย่างจริงจัง บ้านปูรู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมพลังความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้กับน้อง ๆ เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชนของตัวเองในอนาคต

เราภูมิใจที่ได้เห็นเยาวชนค่ายเพาเวอร์กรีนในรุ่นต่าง ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเลือกดำเนินชีวิตอย่างเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว และที่น่าปลื้มใจคือเครือข่ายเยาวชนของค่ายฯ เราพร้อมที่จะกลับมาร่วมส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่น้อง ๆ รุ่นใหม่อยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งสานต่อการทำค่ายเยาวชนเพาเวอร์กรีนทั้งในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างเยาวชนคุณภาพออกไปเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบ้านปูในการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักการ ESG ที่บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจมาตลอด 40 ปี

พื้นที่ป่าชายเลน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

ด้าน ดร.ธัญภัทร ศาสตระบุรุษ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 17 กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเข้ามาร่วมแรงร่วมใจบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหานี้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยังต้องอาศัยทั้งเวลาและความร่วมมือจากทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ในนามของคณะสิ่งแวดล้อมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล เรามีความยินดีที่ได้สานต่อความร่วมมือกับทางบ้านปูมาตลอด 17 ปี เรามุ่งหวังว่าเยาวชนที่ได้มาเข้าค่ายจะเติบโตขึ้นเป็นกลุ่มผู้นำและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และส่งต่อความรู้ไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน ชุมชน และสังคม ให้ได้รับทราบถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการอยู่อาศัยร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตลอดไป

พื้นที่ป่าชายเลน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

นอกจากการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการแล้ว เยาวชนทั้ง 50 คน ยังได้ร่วมเดินทางเพื่อศึกษาปัญหาความเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งและความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเป็นถิ่นอาศัยของหิ่งห้อย ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ก่อนร่วมทำกิจกรรมอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ณ ศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ที่โรงเรียนบางตะบูนวิทยาคม จังหวัดเพชรบุรี ศึกษาผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อโครงสร้างทางธรณีวิทยา ทั้งลักษณะภายนอกของภูเขาหินปูน และโครงสร้างภายในของถ้ำ ที่อุทยานหินเขางู จังหวัดราชบุรี และ ถ้ำกระแซ จังหวัดกาญจนบุรี

สำรวจพื้นที่ป่าในบริเวณศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมวิมานดิน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ และทำกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์พารามิเตอร์ทางสิ่งแวดล้อม และปิดท้ายด้วยการประกวดโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดลให้คำแนะนำ