APEC 2022 กับความสำคัญของ ESG หนุนไทยสู่เป้าหมาย BCG

ความยั่งยืน
Photo: Iva Rajovic/ Unsplash

การเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ในครั้งนี้ของประเทศไทย สร้างโอกาสให้ไทยได้แสดงบทบาทผู้นำ และนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปแลกเปลี่ยนในที่ประชุม เพื่อการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิดให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังดำเนินยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนา เน้นเศรษฐกิจที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจุดแข็งของธุรกิจ หรือเรียกว่าโมเดล BCG โดยมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

B : bio-economy คือ การนำทรัพยากรชีวภาพมา “ผลิตให้คุ้มค่าที่สุด” โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย

C : circular economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีแนวทางคือ “การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด” ของที่ใช้ในการผลิตต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

G : green economy เป็นระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมรวมถึงการจัดการสภาพสังคมให้ “กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด”

ทั้งนี้ หากต้องการดำเนินการภารกิจได้ตามเป้าหมาย BCG ต้องอาศัยการทำธุรกิจที่มีสิทธิภาพตามหลัก ESG ที่ประกอบด้วย 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (environmental : E) มิติสังคม (social : S) และมิติธรรมาภิบาล (governance : G) โดยมีรายละเอียดดังนี้

– E (environment) คือ เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำพลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ ที่บริษัทนำมาใช้และปล่อยของเสียออกมา ครอบคลุมถึงการปล่อยคาร์บอนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

– S (social) คือ เกณฑ์ทางสังคมที่ระบุถึงความสัมพันธ์ของธุรกิจกับผู้คนและชุมชนรอบ ๆ ที่ทำธุรกิจ รวมถึงด้านแรงงานสัมพันธ์ เช่น diversity and inclusion (D&I) แนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร

– G (governance) ธรรมาภิบาล คือระบบภายในขององค์กรที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ต่อต้านการทุจริต ปฏิบัติตาม กฎหมายและตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม

ตลาดหุ้นยั่งยืนโตขึ้น

นอกจาก ESG จะเป็นสิ่งที่นักลงทุนจากทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผลการดำเนินงานด้าน ESG มีความเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานทางการเงิน (financial performance) ของธุรกิจ ทั้งในมิติของความเสี่ยง ศักยภาพในการแข่งขัน และการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

ESG ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ฝุ่นพิษ มลภาวะจากขยะ รวมถึงผลกระทบจากปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และปัญหาสิทธิมนุษยชน

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ในปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment : THSI) 170 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 144  บริษัทในปี 2564 สะท้อนว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมุ่งมั่นกับการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่องพร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

โดยหุ้นยั่งยืนมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 3 ตุลาคม 2565) ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ 33 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 28 บริษัท และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 27 บริษัท

ESG ช่วยองค์กร 5 ด้าน

ขณะที่ McKinsey & Company (บริษัท แมคคินเซย์ แอนด์ คอมพานี) ได้ระบุ “5 อย่าง ที่ ESG สร้างคุณค่าให้ภาคธุรกิจ” (Five ways that ESG creates value)

หนึ่ง เติบโตระดับแนวหน้า องค์กรที่มี ESG ที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทเข้าถึงตลาดใหม่ และขยายตลาดที่มีอยู่ รวมทั้งได้รับความเชื่อมั่นจากหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่มีเกณฑ์ ESG ที่ดี มีแนวโน้มที่จะให้ได้รับการอนุมัติ และอนุญาตในการหาโอกาสใหม่ ๆ มากกว่า เอสจียังสามารถขับเคลื่อนความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยจากการวิจัยของ McKinsey พบว่า ลูกค้ายินดีจ่ายให้สินค้าหรือบริการที่เป็น green

สอง ลดต้นทุน ESG สามารถช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนที่แท้จริงของน้ำหรือคาร์บอน ซึ่งการวิจัยของ McKinsey พบว่าสามารถส่งผลกระทบได้กำไรจากการดำเนินงานมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์

สาม ลดการแทรกแซงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย ESG ที่แข็งแกร่ง สามารถช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จมากขึ้น มีเสรีภาพเชิงกลยุทธ์ คลายแรงกดดันด้านกฎระเบียบ เพราะ ESG ช่วยลดความเสี่ยงให้บริษัทต่าง ๆ จากการการแทรกแทรงของรัฐบาล นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดการสนับสนุนจากรัฐบาล

สี่ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ESG สามารถช่วยบริษัทต่าง ๆ ดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีคุณภาพ เพิ่มแรงจูงใจของพนักงาน และเพิ่มผลผลิตโดยรวม ซึ่งความพึงพอใจของพนักงานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น


ห้า การลงทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์ ESG ช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน โดยการจัดสรรทุนให้กับความยั่งยืนมากขึ้น (เช่น พลังงานหมุนเวียน การลดของเสีย) นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้บริษัทต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการลงทุนที่ไม่ได้ใช้งานหรือด้อยค่าลงในอนาคต