ไม่หวั่นแรงงานข้ามชาติ 7 แสนคนหลุดระบบ เร่งเมียนมาออกเอกสารทันเวลา

แรงงานต่างด้าว2

กรมการจัดหางานเจรจาเมียนมาเพิ่มขีดความสามารถออกเอกสาร 4 ศูนย์ 3 รถโมบาย จากวันละ 850 คน/ศูนย์ เป็น 1,200 คน/ศูนย์ เชื่อแรงงาน 7 แสนคนจะได้รับเอกสารภายในวันที่ 13 ก.พ. 2566

วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเสวนาเรื่องเช็กคะแนนกระทรวงแรงงาน “เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด” ที่มีการแสดงความกังวลถึงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของกรมการจัดหางาน ว่าจะทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนกว่า 700,000 แสนราย หลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายเรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง ระบบขึ้นทะเบียนมีความซับซ้อน เปิดช่องแสวงหาประโยชน์

โดยในเรื่องนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงว่า ประเด็นที่ 1 สาเหตุที่กระทรวงแรงงานเปิดให้ขึ้นทะเบียนและดึงแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบถึง 4 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา มีการปิดสถานประกอบการชั่วคราว แรงงานต่างด้าวจำนวนมากต่างทยอยเดินทางกลับบ้าน และส่วนหนึ่งไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้

อีกทั้งไม่สามารถเดินทางกลับประเทศเพื่อดำเนินการขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามขั้นตอนปกติ เพราะนโยบายป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างประเทศขณะนั้น ต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลมีนโยบายเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายจ้าง-สถานประกอบการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง และมีความต้องการแรงงานข้ามชาติ กรมการจัดหางานจึงเปิดให้มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานกับนายจ้าง ตาม MOU และการนำเข้าแรงงานตามมาตรา 64 พร้อมกับผ่อนผันกฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องตามสถานการณ์จริง

โดยต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และเปิดขึ้นทะเบียนใหม่ เพราะมุ่งหวังให้นายจ้าง สถานประกอบการ มีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ และแรงงานข้ามชาติ สามารถปฏิบัติตามมติ ครม.ในคราวต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้อง

ประเด็นที่ 2 การเปิดให้ยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติเพียง 15 วัน เพราะเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ หากกำหนดระยะเวลาการดำเนินการยาวเกินไป อาจเป็นการดึงดูดแรงงานข้ามชาติให้ลักลอบเข้าเมืองเพิ่มขึ้น และด้วยการขึ้นทะเบียนครั้งนี้เปิดขึ้นทะเบียนด้วยระบบออนไลน์ มีกลุ่มเป้าหมายคือ แรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2565) เวลา 15 วันจึงถือว่าเพียงพอ

ประเด็นที่ 3 ระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์ที่ถูกกล่าวถึงว่ามีความซับซ้อน เปิดช่องแสวงหาประโยชน์นั้น ไม่เป็นความจริง นายจ้าง-สถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ชื่นชอบการการขึ้นทะเบียนด้วยระบบออนไลน์ เพราะมีความสะดวก ลดการใช้เอกสารข้อเท็จจริง ประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาที่ต้องเดินทางมาติดต่อ ณ สำนักงาน

และในส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดา ที่ไม่เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยี กรมมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ และพร้อมช่วยเหลือในการดำเนินการ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และการอนุมัติคำขอจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว สามารถทำได้ทันเวลา เนื่องจากเป็นการอนุมัติผ่านระบบออนไลน์

ประเด็นที่ 4 แรงงานข้ามชาติกว่า 700,000 คน จะไม่หลุดออกจากระบบการจ้างงานถูกกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้ทางการเมียนมาสามารถออกเอกสารรับรองบุคคลให้แก่แรงงานแล้วจำนวน 492,923 คน และยังเจรจาให้ประเทศต้นทางเพิ่มขีดความสามารถในการออกเอกสารให้แก่แรงงานทั้ง 4 ศูนย์ 3 รถโมบาย โดยเพิ่มการดำเนินการจากวันละ 850 คน/ศูนย์ เป็น 1,200 คน/ศูนย์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าแรงงานเมียนมาอีกประมาณ 200,000 คนจะได้รับเอกสารจนครบตามเป้าหมาย (700,000 คน) ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

“กรมการจัดหางานดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนอย่างโปร่งใส ภายใต้ความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนายจ้าง/สถานประกอบการ และภาคการผลิตให้สามารถจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประสงค์จะทำงานให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักร เพื่อการทำงานต่อไปได้ ให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนอย่างมีเสถียรภาพ และเร่งฟื้นฟูประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ในมิติต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว