รมว.สุชาติ แถลงผลงานบริหารแรงงานต่างด้าว ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด

รมว.สุชาติ แถลงผลงานบริหารแรงงานต่างด้าว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงผลงานนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

วันที่ 15 กันยายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงผลการดำเนินงานและทิศทางนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสมาคม องค์กร ภาคประชาสังคม นายจ้าง/สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติกล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่เห็นชอบให้การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่และภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคสิ้นสุดลง ซึ่งจะต้องฟื้นฟูประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน โดยแนวทางที่กระทรวงแรงงานได้บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวมาอย่างต่อเนื่องมีดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

แนวทางที่สอง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19

แนวทางที่สาม การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU

นายสุชาติอธิบายถึงแนวทางที่ 1 ว่า การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงานได้บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้สามารถอยู่และทางานได้เป็นการชั่วคราวมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 3 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่

1) การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563

2) การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564

3) การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564

“การบริหารจัดการดังกล่าวเมื่อคนต่างด้าวดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดครบถ้วน จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,696,638 คน อันเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องการขาดแคลนแรงงานและทำให้นายจ้าง/สถานประกอบการ สามารถจ้างงานคนต่างด้าวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และคนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด

หากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อภาคการผลิตและธุรกิจอย่างที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนนายจ้าง/สถานประกอบการ และภาคการผลิตให้สามารถจ้างคนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งประสงค์จะทำงานสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานต่อไป”

นายสุชาติอธิบายถึงแนวทางที่ 2 ว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญ คือ

1) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วยคนต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวนกว่า 1.6 ล้านคน หากคนต่างด้าวประสงทำงานค์จะต่อไป จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

และ 2) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 4 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานสิ้นสุดโดยผลของกฎหมาย หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงแต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (over stay) ซึ่งได้ทำงานกับนายจ้างก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม 2565

โดยนายจ้าง/สถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (name list) ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2565 มีจำนวน 731,332 ราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 172,553 คน และพื้นที่ต่างจังหวัด 558,779 คน และเมื่อดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดครบถ้วนจะได้รับอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากคนต่างด้าวดังกล่าวประสงค์จะทำงานต่อไป จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานครั้งละ 1 ปี ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

นายสุชาติอธิบายถึงแนวทางที่ 3 ว่า เริ่มดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU อีกครั้ง หลังจากหยุดไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา โดยระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึง 9 กันยายน 2565 มีการยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ จำนวน 13,019 คำร้องเป็นคนต่างด้าว จำนวน 330,106 คน (กัมพูชา 73,031 คน ลาว 36,899 คน และเมียนมา 220,175 คน)

ได้อนุญาตคำร้องดังกล่าว จำนวน 11,516 คำร้อง เป็นคนต่างด้าว จำนวน 315,804 คน (กัมพูชา 69,558 คน ลาว 32,967 คน และเมียนมา 213,279 คน) โดยมีคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้ว จำนวน 69,356 คน (กัมพูชา 17,465 คน ลาว 9,108 คน และเมียนมา 42,783 คน)

“จากผลการดำเนินการในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงแรงงานได้มีการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้นายจ้าง/สถานประกอบการมีกำลังแรงงานที่เพียงพอในการขับเคลื่อนธุรกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ในอนาคตกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของการให้บริการด้านการทำงานของคนต่างด้าวให้ดียิ่งขึ้น อาทิ การลดขั้นตอน การลดระยะเวลา และการลดการใช้เอกสาร รวมทั้งการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเต็มความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง รวมทั้งคนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด” นายสุชาติกล่าวตอนท้าย