สุชาติ ชี้ปรับค่าแรง แค่ 5% ผู้ประกอบการรับได้ สัดส่วนไม่โอเวอร์

สุชาติ ชมกลิ่น
สุชาติ ชมกลิ่น

สุชาติ เชื่อปรับค่าแรง 5% ผู้ประกอบการรับได้ เพราะลูกจ้างอยู่รอด นายจ้างก็อยู่รอดด้วย

วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอตามมติของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและปลัดกระทรวง โดยที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติเห็นชอบ และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ถือเป็นความเห็นชอบของไตรภาคีที่เป็นเอกฉันท์ ไม่ได้มีการลงมติหรือโหวตกัน แต่เป็นการคุยกันแบบลงตัว

สำหรับสัดส่วนการปรับขึ้นอยู่ที่ 5-8 เปอร์เซ็นต์ โดยภาพรวมปรับอยู่ที่กว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงเลย โดยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ผ่านมา 2 ปี จึงรวบยอดปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ

หลายคนอาจมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ ซึ่งตนได้คุยกับนายจ้างแล้ว ถือเป็นการประคับประคองลูกจ้างให้อยู่รอด นี่คือสิ่งที่นายจ้างต้องการ เห็นลูกจ้างมีรายได้มีเงินพยุงค่าครองชีพ และสัดส่วนที่ขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์นายจ้างรับได้ ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่โอเวอร์มาก หากลูกจ้างอยู่รอด นายจ้างก็อยู่รอด แต่ถ้าลูกจ้างอยู่ไม่ได้ นายจ้างก็ต้องหาคนใหม่ สอนงานใหม่

ส่วนการปรับดอกเบี้ยตามภาวะเงินเฟ้อหรือทั่วโลกที่ปรับนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะควบคุมและกำกับส่วนนี้ ขณะที่ด้านพลังงานรองนายกฯ และ รมว.พลังงานจะมีมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือ

ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามกลไก ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยหรือราคาพลังงานรัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยการลดค่าครองชีพที่มาช่วยกัน และสาเหตุที่ผมขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 ตุลาคมนี้เลย เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ของมันขึ้นราคาไปรออยู่แล้ว ถ้าเราไปประกาศในวันที่ 1 มกราคม 2566 สินค้าก็จะขึ้นต่ออีกรอบ ดังนั้นต้องขึ้นค่าแรงเลย เพื่อเป็นการสกัดการขึ้นสินค้าที่รอล่วงหน้า

“ผมได้ขอให้ทางกองทุนประกันสังคมช่วยเหลือนายจ้างในส่วนตรงนี้ 2-3 เดือน และที่หลายท่านมองว่า การลดเงินสมทบที่ผ่านมาทำให้มีผลกระทบต่อเงินชราภาพจริง ๆ แล้วไม่มี เพราะเราได้ใช้มติ ครม.โยกเงินอีกกองมาเติมผลตอบแทนเงินชราภาพ ทั้งนี้ผมได้ให้ประกันสังคมออกมาชี้แจงประชาชนว่า การลดเงินสมทบไม่มีผลกับประชาชนในมาตรา 33 ต่อการชราภาพไม่เกี่ยวกัน” นายสุชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้เป็นการปรับค่าแรงทั่วประเทศหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงรอบนี้เป็นการขึ้นทั้งประเทศ 9 กลุ่ม โดยปรับขึ้นอันดับ 1 คือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จำนวน 354 บาท กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 353 บาท สรุปปรับขึ้น 18 บาท ไม่ได้ขึ้น 1-2 บาทแบบเมื่อก่อน การปรับขึ้นต้องให้เห็นภาพและสามารถชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อได้

เมื่อถามว่า ภาคการผลิตรับได้ใช่หรือไม่ เพราะอาจมีผลกระทบถึงขั้นย้ายฐานการผลิต นายสุชาติกล่าวว่า ตนได้โทรศัพท์คุยกับรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งก็รับได้ในส่วนนี้ แต่ท่านขอในเรื่องของพลังงาน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งจริง ๆ แล้ว รัฐบาลได้ดูแลในส่วนของพลังงาน ทั้งการชดเชยและการอุดหนุนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่านายจ้างรับได้กับการขึ้นค่าแรง

หากไม่มีการขึ้นค่าแรงและลูกจ้างต้องแบกภาวะเงินเฟ้อ หรือของที่แพงขึ้น ลูกจ้างจะอยู่ไม่ได้ นายจ้างก็ต้องหาลูกจ้างใหม่ต้องสอนงานใหม่ ในฐาน รมว.แรงงาน ไม่ได้คิดต้องมานั่งไล่ตามการขึ้นค่าแรง แต่คิดจะลดค่าครองชีพพี่น้องแรงงานอย่างไรจะดีกว่า และวันนี้ขอให้พี่น้องแรงงานมีคามสุขกับมติ ครม.ที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ