ขึ้นค่าแรงกระทบเป็นลูกโซ่ จับตาบัณฑิตใหม่ตกงานอื้อ

นักวิชาการชี้ปรับค่าจ้างแรงงานทุบซ้ำผู้ประกอบการรายย่อย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยแนะตั้งคณะทำงานร่วมหาทางลดผลกระทบระยะสั้น-ระยะยาว หวั่นกระทบจ้างงานเอสเอ็มอี 12 ล้านคน จี้รัฐยื่นมือช่วยเรื่องต้นทุนการผลิต-ต้นทุนทางการเงิน ขณะที่นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลฯจับตาบัณฑิตใหม่หางานยากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธงขึ้นค่าแรงกระทบกำไร 5-15%

นายธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ นักวิชาการ และที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากมติคณะกรรมการค่าจ้าง สรุปผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้แบ่งออกเป็น 9 อัตรา โดยค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท ในจังหวัดชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต ขณะที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท ในจังหวัดยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน และอุดรธานี

ทั้งนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อดูตัวเลขอัตราค่าจ้างที่ปรับขึ้นครั้งนี้จะพบว่า ค่าจ้างสูงสุด (ชลบุรี, ระยอง, ภูเก็ต) จากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ 336 บาท เมื่อปรับใหม่เป็น 354 บาท เท่ากับว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5.4%

ขณะที่ค่าจ้างต่ำสุด (ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน, อุดรธานี) เดิมในปี 2563 อยู่ที่ 313 บาท และปรับใหม่เป็น 328 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4.8% และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดิมค่าจ้างปี 2563 อยู่ที่ 331 บาท ปรับใหม่เป็น 353 บาท เท่ากับว่าค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 6.65%

“ฉะนั้นถ้านำอัตราการปรับค่าจ้างเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑลมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา จะเห็นว่าต้นทุนการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อคนวันละ 22 บาท (เดิมวันละ 331 บาท อัตราใหม่วันละ 353 บาท) และถ้าธุรกิจเอสเอ็มอี มีลูกจ้างเพียง 5 คน ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ นายจ้างจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 2,860 บาท และถ้ามีลูกจ้าง 10-20 คนล่ะ ต้นทุนค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่”

นายธำรงศักดิ์ย้ำว่า การปรับค่าจ้างใหม่ครั้งนี้อีกด้านหนึ่งจะส่งผลต่ออัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ เพื่อหนีผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 1 ตุลาคม 2565 ด้วย ยกตัวอย่าง ปัจจุบันระดับวุฒิ ปวช. อัตราเงินเดือนอยู่ที่ 11,500 บาท, ปวส. 13,000 บาท และปริญญาตรี 16,000 บาท ตามลำดับ เมื่อมีการปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิใหม่

Advertisment

โดยใช้เปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างในส่วนของกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่ 6.65% วุฒิ ปวช.เงินเดือนจะอยู่ที่ 12,264 บาท (เพิ่มขึ้น 764 บาท), ปวส. 13,864 บาท (เพิ่มขึ้น 864 บาท) และปริญญาตรี 17,063 บาท (เพิ่มขึ้น 1,063 บาท) แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะวางแผนการปรับโครงสร้างเงินเดือนอย่างไร เพราะบางบริษัทไม่ได้นำเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากระบอกเงินเดือน

ตั้งคณะทำงานร่วมลดผลกระทบ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า สมาพันธ์เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 5% แต่ประเด็นนี้จะต้องมองในหลายมิติ และเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ โดยสมาพันธ์มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ควรตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชนในแต่ละเซ็กเตอร์ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบระยะสั้น 3-6 เดือน และระยะยาว

Advertisment

เบื้องต้นจากการประเมินผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงแรงงานครั้งนี้ จะทำให้ในระบบการจ้างงานของเอสเอ็มอีประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้จะกระทบเอสเอ็มอีรายย่อยที่มีการจ้างงาน 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ผู้ประกอบการมีการจ้างแรงงานรายวันถึง 40% หรือประมาณ 2 ล้านคน

“ผลกระทบช่วงแรก เมื่อค่าแรงสูงขึ้นจะเป็น cost push ที่ผลักดันให้ต้องปรับราคาสินค้า หากรายใดไม่สามารถแบกรับต้นทุนไว้ได้ก็จะปรับทันที ส่วนจะปรับขึ้นมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละราย แต่ที่น่าห่วงอีกอย่างหนึ่งคือ โดมิโนเอฟเฟ็กต์ ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งจะทำให้ระดับค่าแรงของแรงงานไม่มีฝีมือขยับเข้าใกล้แรงงานที่มีฝีมือ นายจ้างหรือผู้ประกอบการก็จำเป็นจะต้องปรับค่าแรงให้กลุ่มแรงงานที่มีฝีมือด้วย เท่ากับว่าจะต้องปรับขึ้นทั้งระบบ”

สำหรับมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น 3-6 เดือน ประกอบด้วย 1) รัฐจะต้องมาดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคา วัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ที่เป็นต้นทางของการผลิตสินค้า ส่วนการปรับขึ้นราคาแต่ละสินค้า หากเอกชนบางกลุ่มไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ จำเป็นต้องปรับราคา ก็ควรพิจารณาให้ปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม

2) เรื่องต้นทุนทางการเงิน รัฐบาลควรจะต้องมีแนวทางในการช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงช่วยในเรื่องต้นทุนทางการเงินของแรงงานด้วย ในกรณีที่แรงงานมีปัญหาเรื่องหนี้ ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนในลำดับถัดไป

และ 3) คือมาตรการระยะยาว คือ การวางกลไกในการส่งเสริมประสิทธิภาพของแรงงาน โดยคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ในแต่ละจังหวัดควรจะต้องขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาแรงงานทุกประเภท ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ เพื่อพัฒนาฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานที่สอดคล้องกับทักษะฝีมือแรงงานแต่ละคน

อุตฯ “อาหาร-การ์เมนต์” รับมือ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานกรรมการหอการค้าไทย แสดงความเห็นว่า การปรับค่าแรงดังกล่าว เอสเอ็มอีจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีสัดส่วนประมาณ 80% ของอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่

“หลังจากการปรับค่าแร่ง ต้องดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่าจะยังสามารถประกอบธุรกิจและจ้างงานได้ไหวหรือไม่ โดยรัฐควรเร่งให้การช่วยเหลือด้วยการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้ดีขึ้น”

ด้าน นายวสันต์ วิตนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาส่งออกรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า เครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานจำนวนมาก ปัจจุบันยังขาดแคลนแรงงาน มีปรับขึ้นค่าแรงย่อมจะกลายเป็นต้นทุนที่ถาวร

ดังนั้นจึงต้องพิจารณาปรับในระดับที่เหมาะสม เพราะปรับแล้วจะลดลงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้ปรับตัวมาโดยตลอด โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในด้านการผลิต แม้จะใช้ทดแทนแรงงานไม่ได้ แต่เป็นการสร้างมูลค่าให้สินค้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม

เอกชนปรับค่าครองชีพช่วยพนักงาน

ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT เปิดเผยว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ไม่ส่งผลต่อการปรับโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทเอกชนทั้งรายใหญ่และรายกลาง เนื่องจากแต่ละบริษัทมีการวางแผนโครงสร้างเงินเดือนตามระดับคุณวุฒิของแต่ละบริษัทอยู่ก่อนแล้ว

และส่วนใหญ่การจัดทำโครงสร้างเงินเดือนจะครอบคลุมเวลาประมาณ 3-5 ปี และการกำหนดอัตราโครงสร้างเงินเดือนสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว และตอนนี้หลาย ๆ บริษัทเริ่มใช้มาตรการการปรับเพิ่มค่าครองชีพเข้ามาช่วยเหลือพนักงาน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการจ้างงานในอนาคต ปัจจุบันแม้อัตราการว่างงานจะไม่มากเหมือนช่วงโควิด-19 ผ่านมา แต่อย่าลืมว่าจำนวนบัณฑิตตกงานสะสมจากเมื่อปีการศึกษา 2562-2564 ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก และในจำนวนนี้มีอยู่เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เข้าไปอยู่ในตลาดแรงงาน ดังนั้นเมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ จึงทำให้บัณฑิตเหล่านี้ยิ่งหางานยากมากยิ่งขึ้น”

ขึ้นค่าแรงกระทบกำไร 5-15%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ว่า จะมีผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีถัดไป โดยอาจทำให้ต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยราว 0.5% และกระทบกำไรจากการดำเนินงานให้ลดลงเฉลี่ยราว 4.6%

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง ซึ่งมีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูง เบื้องต้นอาจมีกำไรลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือลดลง 5-15% ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันในตลาดของแต่ละธุรกิจ