ผลสำเร็จ CPF ทำปุ๋ยเปลือกไข่เพื่อชุมชนยั่งยืน

CPF
คอลัมน์ : SD TALK

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ขับเคลื่อนโครงการความยั่งยืนสู่ชุมชน สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม ชูโมเดลความสำเร็จโครงการ “ปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร จังหวัดชัยภูมิ” อันเป็นต้นแบบของโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ในการลดขยะสู่การฝังกลบ และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“จำรัส เพ็ชรตะคุ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมส่งเสริมให้พนักงานคิดสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน และเป็นโครงการที่สามารถประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Impact Assessment-SIA)

อาทิ โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร จ.ชัยภูมิ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิด “เปลี่ยนเศษเหลือในกระบวนการผลิต เป็นปุ๋ย ด้วยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรกรรมให้เกษตรกร” อันสอดรับกับเป้าหมาย CPF 2030 Sustainability in Action ของซีพีเอฟ ที่มีความต้องการลดปริมาณของเสียสู่การฝังกลบและเผา (Zero Waste to Landfill) ให้เป็นศูนย์ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย SDGs

โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร จ.ชัยภูมิ ได้รับการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) ปี 2565 รับรองข้อมูลโดย LRQA ซึ่งเป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านการตรวจรับรองที่ได้รับความเชื่อถือ รับรองผลของโครงการ มีการนำเปลือกไข่และมูลไก่ไปทำปุ๋ยหมัก

สามารถลดขยะสู่บ่อฝังกลบ 370 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีเกษตรกรรอบสถานประกอบการที่ได้ประโยชน์ 60 ราย ตลอดจนสร้างมูลค่าต่อบริษัทและสังคมกว่า 325,000 บาท

โครงการ “ปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร จ.ชัยภูมิ” เป็นการศึกษาจนเกิดองค์ความรู้ของบุคลากร ทำให้ได้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เพื่อนำไปผสมกับมูลไก่จากฟาร์มต่าง ๆ ในธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์ และเปลือกไข่จากโรงฟักภายในธุรกิจไก่ไข่มาทำเป็นปุ๋ยหมัก

โดยใช้พื้นที่โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จ.ชัยภูมิ เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชน เกษตรกร และหน่วยงานราชการ อาทิ สถานีพัฒนาที่ดิน จ.ชัยภูมิ นำไปใช้ประโยชน์มากกว่า 150 ตันต่อปี มีการนำปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 400 ไร่

และจากการวิเคราะห์ทางเคมี โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าปุ๋ยมีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง เป็นธาตุอาหารที่ทำให้พืชผักโตเร็ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 20%

ในส่วนของซีพีเอฟ สามารถลดของเสียที่ต้องฝังกลบเปลือกไข่ โดยนำเปลือกไข่ที่เหลือจากกระบวนการผลิต ที่ต้องทำลายด้วยวิธีฝังกลบหรือเผา กลับมาทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ในปี 2566 ยังมีแผนขยายโครงการสู่ชุมชนรอบข้างคือ กลุ่มผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์บ้านไทรงาม ต.นาเสียว อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ทั้งเรื่องการได้รับปุ๋ยสำหรับพืชผักต่าง ๆ และการบูรณาการเรียนรู้ร่วมกัน คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์จากโครงการประมาณ 30 ราย


ทั้งยังเปิดให้หน่วยงานราชการ และผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้ในหน่วยงาน และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ BCG Model ของจังหวัดชัยภูมิด้วย