ตั้งเป้าตลาดแรงงานไทย รายได้ต่อหัวมากกว่า 5 แสนบาทต่อปี ภายใน 2585

เมืองไทย รายได้ สวนดุสิตโพล

ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน และเผชิญปัญหาด้านแรงงานหลายอย่าง การจะแก้ปัญหาแบบเดิม ไม่ทำให้แก้ปัญหาที่สั่งสมมานานได้ ต้องพัฒนาทักษะคนและยกระดับรายได้คนทำงาน

วันที่ 6 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ภาพอนาคตประเทศไทยรายได้สูง: มุมมองตลาดแรงงานในอนาคต” โดยมี ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัยที่ปรึกษารับเชิญ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และหัวหน้าโครงการ และ ดร.นครินทร์ อมเรศ Head of External Affairs ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมอภิปรายในประเด็นสำรวจภาพอนาคตประเทศไทยด้านแรงงานในอีก 20 ปีข้างหน้า

กับการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 15,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (510,398 บาทต่อปี) ภายในปี 2585 มองหาความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพื่อกำหนดลักษณะแรงงานที่ต้องการในอนาคตและนำมาออกแบบเส้นทางการพัฒนาแรงงานในปัจจุบัน ภายใต้ผลการศึกษาของโครงการ “นโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ระยะที่ 2” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า ประเทศไทยติดกับการเป็นประเทศรายได้ปานกลางมานาน และเผชิญปัญหาด้านแรงงานหลายอย่าง โดยการแก้ปัญหาแบบเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาที่สั่งสมมานานได้ การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง จำเป็นต้องมุ่งไปสู่ฉากทัศน์บัวพ้นน้ำไทยวิวัฒน์ จะไม่สามารถใช้แนวทางการพัฒนาเหมือนในอดีตได้

ประเทศไทยต้องมุ่งเน้นไปใน 5 อุตสาหกรรม ที่เป็น Green S-Curve Plus ดังนี้ อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry), อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว (Green Energy), อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Green Agriculture and Food), อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology), อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Tourism) ที่สำคัญจะต้องนำเทคโนโลยีมามาใช้ในซัพพลายเชนของทุกอุตสาหกรรม และต้องผลักดันความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยติด TOP 20 ของโลกภายในปี 2585 เพราะทุกประเทศมีการพัฒนาด้านดิจิทัลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ประเทศที่หยุดการพัฒนาหรือมีระดับการพัฒนาต่ำกว่าจะถูกประเทศอื่นแซง

ดร.นครินทร์ กล่าวเสริมว่า แรงงานต้องมีซอฟต์สกิลที่จำเป็น ได้แก่ ทักษะสื่อสาร ทักษะคิดวิเคราะห์ ทักษะจัดการเวลา ทักษะวางแผนและการจัดการ ทักษะบริหารความขัดแย้ง ทักษะการประเมินและการตัดสินใจ ทักษะการให้บริการ ทักษะทำงานเป็นทีม ทักษะนวัตกรรม มีจรรยาบรรณในการทำงาน และทักษะการแก้ปัญหา

การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง ไม่ใช้ทำตามตำราของประเทศทางแถบตะวันตก แต่เอาบางส่วนมาใช้ แล้วปรับตามภูมิสังคมไทย ประเทศไทยต้องพัฒนาคนเพื่อย้ายคนไปทำงานในสาขาที่มีรายได้สูง ซึ่งตัวช่วยสำคัญคือข้อมูล (big data) โดยภาครัฐมี cloud กลาง และมีหน่วยงานกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลข้อมูลแล้ว แต่ยังขาดการ implement use cases เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ

Data Labs เป็นองค์ประกอบของฐานข้อมูลที่ interoperable และ connected ตอบโจทย์

1) ปัจจัยการศึกษา ประสบการณ์ บริบททางสังคมใดที่ส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะสูง

2) มาตรการใดขยายผลปัจจัยแห่งความสำเร็จใด้ในวงกว้าง

3) แนวทางใดเหมาะสมที่จะสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน

จากนั้นเชื่อมโยงเป้าหมายการยกระดับแรงงานจากงานศึกษากับการปฏิบัติงานจริง จากการใช้งาน Integrated Labor Data Infrastructure Common Key Performance Indicator : แรงงานที่มีพื้นฐานทางด้านการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน ต้องยกระดับจากการเป็น unskilled labor เป็นกลุ่ม skilled labor เพื่อรายได้เฉลี่ย 28,000 บาทต่อเดือน