ปรับตัวรับโลกเปลี่ยน นานาทรรศนะศิษย์เก่า CBS จุฬาฯ

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร-พิทักษ์ ลาภปรารถนา-เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ

ไม่นานผ่านมา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) จัดงาน New Directions for Growth of Business Education 2023 ทิศทางการปรับตัวด้านการบริหารธุรกิจ 2023 โดยมี “รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) พร้อมศิษย์เก่า อาทิ “พิทักษ์ ลาภปรารถนา” ประธานกลุ่มบริษัทในเครือเฮลท์แลนด์กรุ๊ป และ “เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ” CEO KPMG Thailand มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เบื้องต้น “รศ.ดร.วิเลิศ” กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2023 เป็นปีที่ทุกอย่างกำลังจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ธุรกิจที่เคยได้รับผลกระทบจากโควิดกำลังจะกลับมาพลิกฟื้น สิ่งที่โควิดทิ้งไว้คือแผลเป็นทางธุรกิจ ที่ต้องเยียวยาด้วยกลยุทธ์ flick strategy sudden sharp movement

คือต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และชาญฉลาด รวมถึงการปรับตัวให้อยู่รอดแบบ agile ด้วย เช่น ธุรกิจสุขภาพ wellness จะเติบโตมากขึ้นเพราะทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพที่มากขึ้นกว่าปกติ

“จึงทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งธุรกิจการเงิน คนจะเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินมากขึ้น จึงทำให้เกิดบริการการเงินใหม่ ๆ มากมาย ขณะเดียวกัน คนจะเริ่มคุ้นชินกับดิจิทัลออนไลน์หลากหลายรูปแบบมากขึ้น

ยกตัวอย่าง การซื้อของออนไลน์ การประชุมออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นความจำเป็นในภาวะที่โลกมีความผันผวนอย่างรุนแรง สำหรับ CBS จากอดีตสู่ปัจจุบันมีการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยใช้ประสบการณ์จากคนรุ่นเก่ามาผสมผสานกับความรู้ของเด็กรุ่นใหม่ สมัยนี้ผู้ใหญ่จะใช้คำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนไม่ได้ เพราะเด็กเขามีความรอบรู้จากการใกล้ชิดโลกออนไลน์มากกว่า”

ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้ร่วมกับผู้มีประสบการณ์ หรือมีชั่วโมงการบินมากกว่า ทั้งยังต้องร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิต เพราะการสอนธุรกิจไม่ได้สอนแค่เรื่องการทำธุรกิจระหว่างประเทศ แต่สอนทั้งอีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ ดังนั้น นิสิตสามารถทำธุรกิจได้ตั้งแต่เรียนปี 1 และหน้าที่ของสถาบันการศึกษาต้องส่งเสริมเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน สถาบันที่สอนด้านบริหารธุรกิจ ถ้าไม่รู้จักปรับตัว เด็กรุ่นใหม่อาจจะดูหมิ่นได้

ขณะที่ “พิทักษ์” กล่าวเสริมว่า การทำธุรกิจในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้มีแค่โทรศัพท์เครื่องเดียวก็สามารถทำได้หลายอย่าง สมัยก่อนเวลาผมจะไปหาตัวอย่างสินค้า ผมต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อหาด้วยตนเอง แต่ตอนนี้โซเชียลเข้าถึงง่าย จึงเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมมองว่าคนรุ่นใหม่มีศักยภาพทุกคน และเชื่อว่าหลายคนอยากทำธุรกิจ ไม่อยากเป็นลูกจ้างในระบบ

“ดังนั้น ในฐานะศิษย์เก่า CBS สิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ที่เรียนด้านบริหารธุรกิจ หรือคนที่อยากเป็นนักธุรกิจ ว่าต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดี เพราะบางธุรกิจเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎเกณฑ์ทางสังคม ฯลฯ อย่างธุรกิจสปา นวด ต้องขอใบอนุญาตเปิดคลินิก โดยผ่านกระทรวงสาธารณสุข เหมือนอย่างเฮลท์แลนด์เองก็เพิ่งได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องไม่นาน แม้จะเปิดบริการมากว่า 20 ปี เพราะเรื่องการขอใบอนุญาตนั้นยุ่งยากมาก”

เรื่องบัญชีก็เช่นเดียวกัน เพราะมาตรฐานบัญชีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเรื่องกฎหมายอื่น ๆ เราต้องรู้ว่ากฎหมายเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างไร เรื่องการสื่อสารในองค์กรก็สำคัญ ยิ่งองค์กรเล็ก ๆ ต้องสื่อสารทั้งภายในและภายนอก อีกประเด็นสำคัญคือการจัดการ เราจะจัดการกับธุรกิจอย่างไร เพื่อให้รอด หรือไม่รอด เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันมีเยอะ

คนรุ่นใหม่ไวต่อข้อมูลข่าวสาร สามารถหาประสบการณ์จากคนภายนอกได้ง่าย แล้วก็ทักษะความเป็นผู้นำ ในการตัดสินใจว่าจะขยายกิจการอย่างไร บริหารการเงินอย่างไร หรือการจัดการอื่น ๆ ถ้าทำธุรกิจแล้วล้มเหลวถือเป็นประสบการณ์ ผมเองก็ล้มเหลวมาเยอะ แต่ก็หาประสบการณ์จากความล้มเหลว เราต้องมีความอดทน

“พิทักษ์” กล่าวต่อว่า สำหรับเฮลท์แลนด์มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจนวด และสปา จุดเริ่มต้นเปิดสาขาแรกที่ศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ ตั้งใจให้เป็นสถานที่แหล่งรวมสุขภาพครบวงจร มีจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ยาสมุนไพร อาหารมังสวิรัติ อุปกรณ์ปลูกผักสวนครัว และโซนนวดบำบัดเน้นการรักษา จนเรื่องนวดโด่งดังทำให้ตอนนี้มีทั้งหมด 11 สาขา หลัก ๆ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ พัทยา และเชียงใหม่

นอกจากนี้ เรายังทำเรื่องอสังหาริมทรัพย์ มีโครงการหมู่บ้าน 3 แห่งในพัทยา รวมถึงธุรกิจโรงแรม ซึ่งกำลังจะเปิดที่เขาใหญ่

เรื่องของบริการด้านสุขภาพ ประเทศไทยโดดเด่นมาก ก่อนสถานการณ์โควิดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเฮลท์แลนด์มาก ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเกือบ 50% แต่พอเกิดโควิดมีการปิดประเทศ ร้านนวด สปาของเราถูกสั่งปิดต่อเนื่อง ไม่มีลูกค้าเลย สิ่งที่เราทำคือประคองธุรกิจ ดูแลพนักงานราว 1,200 คน ซึ่งลดลงมาจากเกือบ 2,000 คน ขณะนั้นทำให้เราต้องขายทรัพย์สินที่มีเพื่อดูแลพนักงาน

“ตอนนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย การท่องเที่ยวเริ่มฟื้น ก็มีกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติมาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งลูกค้าคนไทยก็มีทั้งลูกค้าทั่วไป และบริษัทที่ให้สวัสดิการพนักงานมารับบริการนวด ส่วนต่างชาติจะเป็นโซนเอเชีย แต่จำนวนไม่มากเท่ากับจีนประเทศเดียว

แสดงให้เห็นว่าเรื่องเฮลท์ ประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่น คาดว่าราว ๆ เดือนเมษายนเป็นต้นไป นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมามากขึ้น แต่ผมยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจเราจะดีขึ้นไหม ถ้าการท่องเที่ยวดี ก็คาดว่าจะดี และสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมคือการเพิ่มพนักงาน ปัจจุบันยังขาดแคลนจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานนวด”

ส่วน “เจริญ” กล่าวอีกมุมมองว่า เคพีเอ็มจีคือธุรกิจให้บริการ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) งานสอบบัญชี และงานการให้ความเชื่อมั่นอื่น (audit and assurance services) 2) งานให้บริการด้านภาษีครบวงจร (tax services) 3) งานให้บริการด้านกฎหมาย (legal services) และ 4) งานให้บริการด้านการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ (advisory services)

เคพีเอ็มจีมีความร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยในการเทรนนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม อย่าง CBS จุฬาฯ จัดตั้งโครงการ UP Academy ร่วมพัฒนาคุณภาพของหลักสูตร ตลอดจนการเรียนการสอนที่เน้นปัญหา และสถานการณ์จริงในโลกธุรกิจ เพื่อให้นิสิตมีความพร้อมที่จะนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์จากการฝึกงานไปปฏิบัติงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา

สำหรับหลักสูตรแรกของ UP Academy คือ Young ESG เป็นหลักสูตรที่โฟกัสเรื่องของ ESG ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของโลกธุรกิจปัจจุบันที่นักศึกษาด้านบริหารธุรกิจจะต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานทั้ง 3 ตัว เพราะภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีกลยุทธ์ในด้านนี้

และมีการขยายการเติบโตไปยังต่างประเทศมากขึ้น นิสิตที่ผ่านหลักสูตรนี้มีโอกาสที่จะเข้ารับการฝึกงานกับเคพีเอ็มจีในช่วงปิดภาคเรียนของปีการศึกษาที่ 2 และ 3 ทั้งยังสามารถเข้าทำงานเป็นพนักงานประจำเมื่อจบการศึกษา โดยผ่านตามขั้นตอน และวิธีการประเมินของเคพีเอ็มจี

“ผมมองหาคนที่เหมาะสมกับองค์กร แต่สิ่งสำคัญคือ future leader ในเคพีเอ็มจี ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นลีดเดอร์ได้ เพียงแต่เราจะพัฒนาอย่างไร พูดง่าย ๆ เราไม่ได้พัฒนาจุดอ่อน แต่มองว่าจุดแข็งของพนักงานคืออะไร เพื่อดึงศักยภาพเขาออกมา”

นอกจากนี้ “เจริญ” ยังกล่าวอีกว่า การทำงานของคนยุคก่อนจะมีแนวคิดว่าเราต้องทำงานเพื่ออนาคต ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งหมด เท่าที่เราจะสามารถทำได้ เพื่อสบายในวันข้างหน้า แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป คนสมัยนี้เขาต้องการสบายวันนี้เลย

ดังนั้น องค์กรต้องมีความเข้าใจ มีการปรับตัว และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เปลี่ยนกระบวนการทำงาน สิ่งที่ผมอยากฝากคือองค์กรสมัยนี้จะสำเร็จได้ต้องมีคนที่มีคุณภาพในการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และช่วยกันดึงขีดความสามารถของเพื่อนร่วมงานออกมา

“ผมมองเห็นอย่างหนึ่งว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเรียนปริญญาโทแล้ว หรือในส่วนของคนที่เรียนจบบัญชีมา ก็ไม่อยากสอบ CPA (certified public accountant) ตอนนี้ความต้องการคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป วิชาชีพสอบบัญชี ถ้าสมัยก่อน เป็นวิชาชีพที่ทรงเกียรติ คนจะขึ้นตำแหน่งผู้จัดการ ก็ต้องมี CPA ฉะนั้น สิ่งที่องค์กรต้องดูหลัก ๆ คือศักยภาพของคนมากกว่ากระดาษแผ่นนึง”

แต่ประเด็นคือ CPA ยังมีความจำเป็นอยู่ในแง่ของการรับรองวิชาชีพ เราจะปรับเปลี่ยนยังไงเพื่อให้เกิดความสมดุล เพราะคนก็มีส่วนในการปรับทิศทางด้านอาชีพด้วย