สังคมที่เราต้องการ

คอลัมน์ Social Talk โดย พิพัฒน์ ยอดพฤติการ สถาบันไทยพัฒน์

 

หัวหน้ารัฐบาลได้ลั่นวาจาว่า กุมภาพันธ์ ปี”62 จะมีการเลือกตั้ง

ฉะนั้น จากนี้ไปอีก 9 เดือน บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายจะต้องมีนโยบายที่ดี ๆ มานำเสนอแก่ประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกอย่างสร้างสรรค์ แทนที่จะไปขุดคุ้ยเรื่องในอดีตของอีกฝ่าย มาดิสเครดิตอย่างไม่สร้างสรรค์

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อยากเห็นแต่ละพรรคใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดในการนำเสนอเส้นทางของพรรคว่าจะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างไร มากกว่าการใช้ทรัพยากรที่ได้มาไปกับการลบหรือกีดกันเส้นทางของพรรคอื่น

อย่าไปมัวชี้หน้าถกเถียงกันว่าใครเป็นตัวการทำให้ประเทศถอยหลังมาขนาดนี้ ถ้าเราเริ่มต้นก้าวเดินไปข้างหน้าวันนี้ แม้จะทีละก้าว ก็เชื่อแน่ว่าเรายังสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ทัดเทียมกับอารยประเทศในภูมิภาค และในโลก

จุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ การชี้นิ้วมาหาตนเอง และบอกว่าเราเป็นบุคคลหนึ่งที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่ปัดไปเป็นภาระหน้าที่ของคนอื่น เป็นงานของรัฐ เป็นงานของเอ็นจีโอ หรือผลักเป็นงานของเจ้านาย เป็นงานของลูกน้อง โดยที่ตัวเองไม่ทำอะไร (แต่เก่ง comment คนอื่น)

ในสังคมยุคปัจจุบัน การเมืองการปกครองที่อาศัยการออกกฎหมายควบคุม หรือการกำหนดเป็นข้อปฏิบัติ โดยขาดองค์ประกอบของการกำกับติดตามตรวจสอบ และขาดผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเพียงพอ ปรากฏให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถดูแลสังคมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยได้ (เช่น กรณีอาหารเสริมมีสารอันตราย ที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภคจำนวนมาก หรือกรณีทุจริตเงินทอนวัด ที่ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อพระภิกษุในวงกว้าง)

ครั้นจะเพิ่มปริมาณเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ก็จะส่งผลต่องบประมาณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยยังไม่ได้พิจารณาถึงความขาดประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ หากอิงตามบรรทัดฐานปัจจุบัน (อันที่จริง ไม่มีทางที่จะใส่เจ้าหน้าที่ให้พอกับงาน หากพ่อค้าขาดจิตสำนึกรับผิดชอบ หรือเจ้าหน้าที่จ้องจะทุจริตกันหมด)

นโยบายการขับเคลื่อนการบริหารกิจการบ้านเมือง จึงควรได้รับการออกแบบให้เกิดเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ด้วย เพื่อที่จะสร้างให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบของทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการบริหารทรัพยากรที่ใช้ในการตรวจตราจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ในลักษณะเครือข่าย โดยรัฐไม่ต้องรับเป็นภาระอยู่ในบัญชีงบประมาณแผ่นดิน

สังคมที่ต้องการเห็น และที่ควรจะเป็น คือการได้เห็นภาคประชาชนทำหน้าที่ (perform) ของตนเองอย่างมีประสิทธิผล ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่าน หรือแปรรูป (transform) ไปสู่การยกระดับการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เป็นที่ยอมรับของสังคม และภาครัฐมีการปฏิรูป (reform) หน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และความคาดหวังของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

หากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนไปในเส้นทางที่ว่าได้ จะก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะที่เป็น “collective impact” ซึ่งเกิดจากการรวมปัจจัยหรือทรัพยากรจากหุ้นส่วนความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้มีขนาดใหญ่พอที่จะดำเนินการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาสังคมในสเกลที่เป็นระดับประเทศได้อย่างสัมฤทธิผล