ส่องอาชีพหลังเลนส์ของคน Gen Z

อาชีพ “หลังเลนส์” กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กลุ่มเจนแซส (Generation Z) อยากเข้ามาจับจองพื้นที่สร้างอาชีพหลังเรียนจบ ด้วยเหตุผลที่หลากหลายรวมถึงรายได้ที่งดงาม ล่าสุดในงาน “บิ๊ก คาเมร่า บิ๊ก โปรเดย์ 2018 (BIG CAMERA BIG PRO DAYS 2018)” มี “แกะ-ภูริพงษ์ ลิมวนาทิพงษ์” ครีเอทีฟมือทองเจ้าของรางวัลจากเวทีคานส์ ไลอ้อนส์ 5 ปีซ้อน มาร่วมเสวนาพร้อมแชร์ความลับการทำงานหลังเลนส์สุดปัง ในกิจกรรม “The Secret Life of Pros Passion Solution” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ นักศึกษาได้นำไปต่อยอดสู่สายอาชีพที่รัก

“ภูริพงษ์ ลิมวนาทิพงษ์”

“ภูริพงษ์ ลิมวนาทิพงษ์” เล่าว่า การทำงานเบื้องหลังหรือผู้ที่อยู่หลังเลนส์ มีสายงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ช่างภาพ ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ หรือครีเอทีฟ ซึ่งการทำงานเหล่านี้ให้ไปสู่ฝั่งฝันหรือประสบความสำเร็จได้นั้น หัวใจหลักที่ทุกคนควรมีคือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (creativity) อย่างหนังโฆษณาบางเรื่องหรือแคมเปญโฆษณาบางตัวที่ถูกถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชม หลายคนมองว่าเป็นเรื่องง่าย ใคร ๆ ก็คิดก็ทำได้ แต่ถ้าให้ลองนั่งคิดไปถึงเบื้องหลังของผลงานแต่ละชิ้น จะรู้ได้ทันทีว่ากว่าจะได้ชิ้นงานออกมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย

“การทำงานจริงลูกค้ามีโจทย์มาสั้น ๆ มีสินค้ามาให้ดูเพียงอย่างเดียว ที่เหลือคือหน้าที่ของคนหลังเลนส์ทั้งสิ้น ที่ต้องหาข้อมูล ต้องคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และถ่ายทอดออกมาให้โดยใจผู้ชม ดังนั้นหากใครที่ต้องการจะเดินทางในสายอาชีพนี้ จำเป็นต้องหมั่นฝึกฝนไอเดียของเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเคล็ดลับส่วนตัวที่ใช้ในการพัฒนาฝีมือ คือ การหาข้อมูลต่าง ๆ ดูผลงานของผู้อื่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การออกมามองความคิดของตัวเองว่ายังสามารถพัฒนาไปต่อได้อีกหรือไม่ สิ่งต่อมาคือความชื่นชอบ (passion) ตามคำกล่าวที่ว่า follow your passion and success will follow you ซึ่งก็หมายถึงคนเราต้องทำตามสิ่งที่ตนชื่นชอบ และความสำเร็จก็จะตามมาหาเราเอง”

“ธณัฐชัย พงษ์สวัสดิ์” นักศึกษาระดับ ปวช. ชั้นปีที่ 2 คณะศิลปกรรม สาขาคอมพิวเตอร์กราฟฟิค วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ เล่าว่า สำหรับกิจกรรมครั้งนี้เป็นการเปิดมุมมองกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ได้ไอเดียและเทคนิคใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ในสายอาชีพอื่นได้เป็นอย่างดี

“อาชีพช่างภาพ เป็นอีกหนึ่งความฝันที่อยากทำหลังเรียนจบ เพราะปัจจุบันมีการใช้ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเป็นตัวแทนการสื่อสารเป็นจำนวน สามารถหยุดความสนใจให้ผู้บริโภคให้หันมามอง หยิบจับหรือเปิดอ่านเนื้อที่ซ้อนอยู่ข้างในภาพเหล่านั้น และที่สำคัญคือการเป็นช่างภาพ สามารถประยุกต์เข้ากับสิ่งที่เรียนมา ต่อยอดเป็นผลงานต่าง ๆ ได้อีกมากมาย อาทิ การทำเกมส์ การทำเว็บเพจ และการทำสื่อโฆษณา เป็นต้น”

ด้าน “รัฐนันท์ตรี แจ้งสว่าง” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร บอกว่า สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้เรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีของการถ่ายภาพได้มากขึ้น เข้าใจว่ากล้องแบบไหนเหมาะกับการถ่ายภาพนิ่ง กล้องแบบไหนเหมาะกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว

“สามารถนำความรู้นี้ไปปรับใช้ได้ อีกทั้งในอนาคตได้วางแผนไว้ว่าต้องการเป็นนักตัดต่อ เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ชอบตัดต่อ ทำคลิปวิดีโอ ทำสารคดีอยู่แล้วเป็นประจำ และมองว่าในอนาคตการสื่อสารด้วยภาพยนตร์สั้น คลิปวิดีโอ หรือภาพเคลื่อนไหว จะเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันนิยมเสพข้อมูลจากคลิปวิดีโอ จากข่าวในลักษณะภาพเคลื่อนไหวมากกว่าการอ่านตัวหนังสือ อีกทั้งเทคโนโลยีการถ่ายภาพในสมัยนี้ก็พัฒนาไปมาก ทำให้ใครหลายคนสามารถเป็นผู้ผลิตหนังสั้น หรือคลิปวิดีโอดี ๆ ได้ตลอดเวลา”

ส่วน “พิชญะ อาชาไชย” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมัลติมิเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้เป็นหัวข้อที่ตรงกับอาชีพที่อยากเป็น คือ นักโฆษณา และได้ความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้กับงานโฆษณาได้หลายด้าน ทั้งกระบวนการวิธีคิด อย่างเรื่องการค้นหาความท้าท้ายเพื่อพัฒนาตัวเองให้ก้าวต่อไปข้างหน้าในสายอาชีพนี้ รวมถึงวิธีการนำเสนอผลงานให้ออกมาน่าสนใจ ตรงความต้องการของผู้ชม

“อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ชอบคือการได้ร่วมเวิร์คช้อปถ่ายภาพในแนวต่างๆ ทำให้ได้ทราบว่าตัวเองถนัดการถ่ายภาพบุคคล (portrait) อีกทั้งในกิจกรรมนี้ยังสอนและฝึกให้ค้นหาอัตลักษณ์ของการถ่ายภาพที่เป็นเสมือนลายเซ็นของช่างภาพที่ประทับลงบนภาพถ่ายหรือผลงานของตัวเราเองอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ทันทีว่าผลงานดังกล่าวเป็นของช่างภาพท่านใด หรือแนวการถ่ายหนังโฆษณาแนวนี้จะเป็นการถ่ายในสไตล์ของนักโฆษณาคนใด”


สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังมองหาอาชีพในฝันทำช่วงเรียนจบ ก็สามารถนำไอเดียจากกิจกรรมครั้งนี้ไปปรับใช้ได้ หรือถ้าใครสนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปดี ๆ เช่นนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บิ๊ก คาเมร่า (BIG CAMERA) ทั้ง 230 สาขาทั่วประเทศไทย หรือ www.bigcamera.co.th, Facebook : BIGCAMERACLUB, Instagram : BIGCAMERA_CLUB, Youtube : BIGCameraTV