ก้าวใหม่ “ทุนลดาวัลย์” “ไบโอฟาร์มา” จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ขณะที่ประเทศไทยประกาศที่จะเป็น “เมดิคอลฮับ” ของภูมิภาค แต่โจทย์ท้าทายคือประเทศไทยยังต้องนำเข้าทั้งยาและเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงการที่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ และที่สำคัญทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลของคนไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะประชาชนฐานรากที่จะประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้

ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงทาง “ยา” และสาธารณสุขของประเทศ บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงริเริ่มลงทุนในธุรกิจยา โดยก่อตั้ง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เมื่อปี 2552 ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการวิจัยพัฒนา เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตยาที่เรียกว่า “ไบโอฟาร์มา” ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำทั้งยังร่วมมือกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจยาอันดับหนึ่งของประเทศคิวบา จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “เอบินิส” เพื่อวิจัยพัฒนายารักษาโรคมะเร็งและโรคแพ้ภูมิตัวเอง

 

ทุนลดาวัลย์สู่ผู้ผลิตยา

“อภิพร ภาษวัธน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของทุนลดาวัลย์ในการลงทุนในธุรกิจยา ไม่ได้มุ่งเรื่องผลกำไรทางธุรกิจ แต่เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขให้กับคนไทย เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตยาที่ใช้เทคโนโลยีไบโอฟาร์มา (ชีววัตถุ) ที่สร้างมาจากธรรมชาติ ไม่ใช้ยาเคมี โดยมีการวิจัยและผลิตยาอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยได้รับยาที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผลเข้าถึงได้เนื่องจากประเทศไทยนำเข้ายาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดยาปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันสัดส่วนของยานำเข้าสูงถึง 80% ทำให้ไทยขาดดุลการค้าด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวสู่การเป็น “เมดิคอลฮับ” อย่างแท้จริง

10 ปีแห่งความอดทน

“อภิพร” บอกว่า ธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความอดทนมาก ๆ เพราะนอกจากต้องใช้เวลาในการวิจัยพัฒนา อีกสิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับยาที่ผลิตในประเทศ ดังนั้นการที่ไบโอฟาร์มาเป็นอุตสาหกรรมอนาคต และเป็นหนึ่งใน new S-curve ของประเทศ จึงต้องมีความอดทนในการที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมา เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพดี ด้วยราคาที่ต่ำกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศ

“ปัจจุบันบริษัทเข้าสู่ปีที่ 10 จนถึงขณะนี้มีการลงทุนไปแล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยปี 2559 บริษัทเริ่มผลิตยาออกจำหน่ายมี 2 รายการ คือยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่รับคีโมและภูมิต้านทานลดลง ซึ่งยาทั้ง 2 รายการได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการบรรจุเข้าบัญชียาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคมแล้ว”

นอกจากนี้สยามไบโอไซเอนซ์ยังเป็นโรงงานยาแห่งเดียวของประเทศที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล PIC/s GMP, ISO 9001 : 2015, ISO 17025 : 2016 ทำให้ได้รับการยอมรับจากองค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น อย., เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่จ้างให้บริษัทผลิตยาบางชนิด รวมถึงผลิตยารักษาสัตว์ให้กับเครือเบทาโกร เป็นต้น

“บริษัทจึงตั้งเป้าในช่วง 5 ปีนับจากนี้จะวิจัยและพัฒนายาเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 40 รายการ โดยเฉพาะการพัฒนายารักษามะเร็ง ซึ่งได้ร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจยาของคิวบา ซึ่งกำหนดที่จะเริ่มผลิตจัดจำหน่ายได้ในปี 2564 ซึ่งบริษัทจะเป็นฐานผลิตให้กับคิวบาและละตินอเมริกา”

“ไบโอฟาร์มา” ลุยตั้งแต่ต้นน้ำ

“ดร.ทรงพล ดีจงกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด อธิบายถึงกระบวนการผลิตยาของบริษัทว่า เริ่มจากการวิจัยพัฒนาสารตั้งต้นชีววัตถุ หรือ “ไบโอฟาร์มา” ซึ่งเป็นโปรตีนจากสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกันกับที่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ตามธรรมชาติ ซึ่งได้จากกระบวนการหมักเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นใช้ชีววัตถุดังกล่าวมาผลิตเป็นตัวยา ซึ่งยาชนิดดังกล่าวจะทำหน้าที่เลียนแบบโปรตีนที่มีอยู่ในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง โรคไต และโรคภูมิแพ้ตนเอง (ข้ออักเสบรูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน)

“ข้อดีของยาประเภทนี้คือส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับยาเคมีชนิดอื่น ๆ และสามารถเข้าไปรักษาได้อย่างตรงจุดด้วยการเข้าไปทำลายเซลล์กำเนิดโรคโดยไม่ส่งผลกระทบอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งต่างจากยาเคมีที่จะทำลายเซลล์ดีในร่างกายไปด้วย ทั้งนี้เดิมสารตั้งต้นผลิตยาต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่สยามไบโอไซเอนซ์ได้วิจัยและพัฒนากระบวนการหมักและเลี้ยงจุลินทรีย์เพื่อสกัดชีววัตถุได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า และยาทั้ง 2 รายการที่ผลิตก็ช่วยให้ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้”

“ปัจจุบันยาของบริษัทเป็นที่ยอมรับ โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งได้นำยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงและยาเพิ่มเม็ดเลือดขาวไปใช้ในการรักษาแล้ว ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจ ทำให้โรงพยาบาลเล็ก ๆ ยอมรับและนำไปใช้มากขึ้น”

โจทย์ใหญ่ “ความเชื่อมั่น”

“ธวัชชัย พิเศษกุล” กรรมการบริหาร บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด บริษัทในเครือทำหน้าที่ด้านการขายกล่าวเสริมว่า แม้ว่าราคายาของบริษัทจะถูกกว่ายานำเข้า 2-3 เท่า ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น รวมถึงยาของบริษัทจะไปอยู่ในบัญชียาของ สปสช.และสำนักงานประกันสังคมแล้ว แต่การทำตลาดยังต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจและการยอมรับกับแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลอย่างมาก อุปสรรคสำคัญมาจากเรื่องของความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของยา เพราะคนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในยานำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า

“สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนทัศนคติทั้งของผู้ป่วยและแพทย์ หากสามารถทำให้แพทย์เชื่อมั่นในคุณภาพของยาได้จะทำให้ผู้ป่วยมั่นใจไปด้วย แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถจำหน่ายยาทั้งสองชนิดได้ประมาณ 1 ล้านหลอด จากความต้องการใช้ทั้งหมดประมาณ 4 ล้านหลอด”

นอกจากนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพยาดังกล่าว ด้านหนึ่งบริษัทจะขยายการส่งออกยามากขึ้น เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกวิธีที่จะทำให้คนไทยยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพยาของบริษัทไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีการส่งออกไปยังเมียนมาและกัมพูชาแล้ว และจะขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันบริษัทจะผลักดันเรื่องการได้รับรองมาตรฐานจากยุโรป ทั้งในส่วนของโรงงานการผลิตและการนำยาที่ผลิตได้ไปขึ้นทะเบียนที่ยุโรป โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ สะสมคะแนนเพื่อพิสูจน์และตอกย้ำถึงคุณภาพยาของบริษัท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับมาในประเทศ

ต่อยอดสู่ “เวชสำอาง”

นอกจากนี้สยามไบโอไซเอนซ์ยังแตกบริษัทลูกที่ชื่อว่า “อินโนไบโอคอสเมด” ดำเนินธุรกิจเวชสำอาง โดยใช้ชีววัตถุที่ใช้ในการผลิตยามาเป็นองค์ประกอบ สำหรับเรื่องนี้ “นฤมล ชุนหกรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนไบโอคอสเมด จำกัด บอกว่า ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ แบรนด์ “อาร์เดอร์มิส” ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อลดเลือนริ้วรอยและผลิตภัณฑ์ลดปัญหาผมร่วง และแบรนด์ “ยูเดอร์มา” ผลิตภัณฑ์ลดเลือนรอยแผลเป็น

“ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่เรียกว่าฮิวเมนอีจีเอฟ หรือโปรตีนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ผิว ซึ่งได้มาจากกระบวนการผลิตเดียวกันกับการผลิตยา”


จึงนับเป็นความก้าวหน้าทางด้านการวิจัยและพัฒนา “ยา” สำหรับอนาคตอย่างยั่งยืน