พระปฐมบรมราชโองการ ร.10 สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธาน ร.9

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

จากพระปฐมบรมราชโองการของ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ผ่านมา ไม่เพียงสะท้อนถึงพระราชปณิธาน และความตั้งใจอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

ตลอดจนโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์เองในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า มั่นคง ตลอดไปดั่งจะเห็นได้จากการที่ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลย เดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

จนเมื่อเจริญพระชนมายุมากขึ้น พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติผ่านมาก็เพิ่มมากขึ้นนานัปการ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติในส่วนของพระองค์เอง จนทำให้ปวงชนชาวไทยประจักษ์ชัดในพระราชวิริยอุตสาหะ และพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ ถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จากการตามเสด็จ

“สมเด็จพระบรมชนกนาถ” และ “สมเด็จพระบรมราชชนนี” ที่ออกเยี่ยมเยียนพสกนิกรทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทรงพระวิริยอุตสาหะเอาพระราชหฤทัยใส่ในการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท “สมเด็จพระบรมราชบุพการี” ด้วยทรงตระหนักถึงพระราชภาระอันสำคัญที่รอคอยอยู่ในภายภาคหน้า และด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อประชาชนทุกผู้ทุกนาม และทุกหมู่เหล่าทั้งนั้นจากข้อมูลโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” และ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” รวบรวมไว้ภายใต้ชื่อ “บรมราชาภิเษก บรมราชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10”

ระบุว่า ด้วยพระวิสัยทัศน์ และสายพระเนตรที่ยาวไกล โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ได้แก่

หนึ่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สอง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

สาม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ

สี่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการศึกษา

ห้า โครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ”

โดยโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาท “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ที่ทรงให้ความสำคัญกับ “น้ำ” ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของพสกนิกร โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาแหล่งน้ำในหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง บ่อเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ

การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ ฝาย อาคารบังคับน้ำ ระบบและท่อส่งน้ำ ทำนบดิน การจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน ครอบคลุมทุกภูมิภาค จากหมู่บ้านชายขอบบนภูเขาทางภาคเหนือ จดหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ จ.เชียงใหม่, ราชบุรี, จันทบุรี, อุดรธานี ไปจนถึง จ.นราธิวาส เพื่อช่วยพลิกฟื้นชีวิตราษฎรตามความต้องการของประชาชนและตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ

ขณะที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ถือเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากจากการเจ็บป่วย ยากไร้และขาดโอกาส ผ่าน “โครงการกาญจนบารมี” ที่พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งขึ้น ทั้งยังทรงเป็นประธานจัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ 50 เพื่อลดความทุกข์ยากลำบากของผู้ป่วยในการเดินทางมารับการรักษาอีกทั้งพระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมีดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมี ขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ และเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการป้องกันควบคุมโรคมะเร็ง โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เป็นกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ และการพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ซึ่งได้รับการยกสถานะขึ้นจากศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี รวมถึงสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ และเพื่อสาธารณประโยชน์

ปัจจุบันโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเฉลี่ยปีละ 2,000 คน ทั้งมะเร็งเต้านม, มะเร็งไทรอยด์, มะเร็งปอด, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการใช้กัมมันตรังสีในการรักษามะเร็งไทรอยด์ ซึ่งได้ผลการรักษา ทำให้มีผู้ป่วย มีอายุเกิน 5 ปี ได้ถึงร้อยละ 90

ขณะที่ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ” โดย “โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.ยโสธร” ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาให้กับราษฎรจำนวน 7 หมู่บ้านได้อย่างบูรณาการ ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูปรับปรุงดิน การบรรเทาอุทกภัย การเพิ่มผลผลิตและรายได้ การสร้างอาชีพใหม่ รวมทั้งการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ โดยความร่วมมือของราษฎร 7 หมู่บ้านโดยรอบหนองอึ่ง

“โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการศึกษา” เกิดจากพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นเพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ โดย “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

พระราชดำริให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรัพย์จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ยากจนให้มีโอกาสศึกษาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี 2552 และในเวลาต่อมา จัดตั้งเป็น “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ “ม.ท.ศ.” ขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 โดยทรงเป็นประธานกรรมการเอง

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานโครงการ พระองค์ได้พระราชทานหลักการให้กระจายทุนครบทุกจังหวัด และดำเนินการด้วยการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง จนได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับพระราชทานทุน จังหวัดละ 2 รายต่อปี เป็นชาย และหญิงเท่า ๆ กันซึ่งตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2561 มีนักเรียนทุน ม.ท.ศ. 9 รุ่น รวมทั้งสิ้น 1,059 ราย

โครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เป็นโครงการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2560 ด้วยน้ำพระราชหฤทัยทรงห่วงใย ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และพระราชปณิธานแน่วแน่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน สร้างความมั่นคงและวัฒนาสถาพรให้กับประเทศสืบต่อไป

นับเป็นพระราชปณิธาน และความตั้งใจอันแน่วแน่ของ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ เฉกเช่นพระปฐมบรมราชโองการ ในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติ