ธุรกิจไทยแห่ดึงมือดีต่างชาติ กสิกรจ้างไอทีเวียดนาม800คน

บริษัทไทยแห่จ้างแรงงานฝีมือต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มไอที เผยเมืองไทยขาดแคลนทาเลนต์ “กสิกรไทย” จ้างโปรแกรมเมอร์เวียดนาม 800 คน “อิตัลไทย” ดึงทีมวิศวกรจาก “ฟิลิปปินส์-อินเดีย” เสริมทัพ ยันค่าจ้างไม่ได้สูงกว่าคนไทย เผยตัวเลขจ้างแรงงานฝีมือต่างชาติ ล่าสุดกว่า 1.6 แสนคน “ญี่ปุ่น-จีน” แชมป์ 

 

แรงงานต่างชาติทะลุ 1.6 แสนคน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัจจุบันพบว่าบริษัทเอกชนไทยขนาดกลาง-ใหญ่มีการจ้างแรงงานฝีมือชาวต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการศึกษาในประเทศยังไม่สามารถผลิตบุคลากร-แรงงานเฉพาะด้านได้ทันกับความต้องการ โดยข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย ประเภทแรงงานฝีมือ (skill labor) ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2562 มีทั้งหมด 162,228 คนแบ่งเป็นแรงงานที่เข้ามาปฏิบัติงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 44,824 คน และแรงงานฝีมือทั่วไป ตามมาตรา 59 ที่เป็นทั้งนักลงทุน, ช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการ 117,404 คน

ทั้งนี้ตำแหน่งงานที่เข้ามาทำงานในกิจการที่ได้ BOI มากที่สุดคือ ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ รองลงไปคือ ช่างเทคนิค, กรรมการผู้จัดการ/ผู้บริหารระดับสูง, สถาปนิก/วิศวกร และผู้จัดการฝ่ายผลิตและผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ตามลำดับ ส่วนตำแหน่งงานตาม ม.59 มากที่สุดคือ ผู้จัดการฝ่ายอื่น ๆ รองลงมา ผู้ประกอบอาชีพด้านการสอน, กรรมการผู้จัดการ/ผู้บริหารระดับสูง, ผู้ประกอบวิชาชีพด้านธุรกิจ และผู้จัดการฝ่ายผลิตและฝ่ายปฏิบัติการ ตามลำดับ

โดยพบว่าจำนวนแรงงานฝีมือ มาจากประเทศญี่ปุ่นมากสุด 34,133 คน รองลงมา ได้แก่ จีน 26,706 คน, ฟิลิปปินส์ 18,929 คน, อินเดีย 14,836 คน, อังกฤษ 10,660 คน และสหรัฐอเมริกา 7,385 คน

อิตัลไทยจ้าง “ปินส์-อินเดีย”

นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงปรับแนวคิดและวิธีการทำงานเพื่อให้อิตัลไทยเป็นบริษัทคนไทยที่มีระบบการบริหารจัดการที่สามารถแข่งขันในระดับอินเตอร์ได้ หนึ่งในนโยบายสำคัญคือ การดึงชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานแล้วในหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะในบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด (ITE) มีพนักงานต่างชาติประมาณ 5% มีการจ้างงานชาวฟิลิปปินส์, อินเดีย เข้ามาทำงานในระดับเอ็นจิเนียร์ รวมทั้งชาวจีนที่เข้ามาดูแลด้านจัดซื้อ และมีเป้าหมายที่จะให้มีชาวต่างชาติลงในทุกฟังก์ชั่น

“เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่พร้อมทำงานหนัก ไม่มีการเมืองในบริษัท อัตราค่าจ้างก็ไม่ได้สูงกว่าคนไทย ขณะที่คนไทยเริ่มไม่ค่อยมีแรงกระตุ้น บวกกับระบบการศึกษาของไทยสร้างคนในระดับนี้ไม่ทัน”

KBTG ดึงไอทีเวียดนาม 

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในเครือธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในส่วนของ KBTG ปัจจุบันมีพนักงานราว 1,200 คน ประมาณ 800 คน เป็นการจ้างงานเอาต์ซอร์ซต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามที่เข้ามาเป็นโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในแง่คุณภาพงานมองว่าอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไทย ทั้งยังมีข้อจำกัดในการสื่อสาร แต่เนื่องจากเมืองไทยขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีค่อนข้างมาก ทำให้จำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันยังมีความต้องการเพิ่มอีกราว 300 คน

ขณะที่นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาต่างชาติเข้ามาช่วยวางแผนและพัฒนาระบบสารสนเทศภายในองค์กร แต่ไม่ได้รับเข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา แม้ว่าระบบไอทีจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่บางจากก็ส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาทักษะของตัวเองด้วยโปรแกรมต่าง ๆ

เมืองไทยขาดแคลน “ทาเลนต์”

ด้านนายบวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บริษัทไทยนำเข้าแรงงานจากต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น เนื่องจากบุคลากรที่เป็น tal-ent technology ของไทยมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รวมถึงสถาบันการศึกษาไม่สามารถผลิตบัณฑิตได้ทันความต้องการ

“ปัจจุบันองค์กรธุรกิจไทยกำลังปรับตัวในเรื่องการทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อรองรับการเปลี่ยนไปของเทคโนโลยี ทำให้การทำงานด้วยทักษะแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ จึงต้องมีการสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาเสริมแกร่งในองค์กร และด้วยตลาดแรงงานในประเทศผลิตคนในด้านเทคโนโลยีไม่ทัน จึงต้องมีการจ้างคนจากต่างประเทศเข้ามา”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!