ประสาร ไตรรัตน์วรกุล 3 คาถาสู่ความยั่งยืน

นอกจากจะเป็นประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด แล้ว “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ยังเป็นที่ปรึกษา Central Group Sustainability ของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งถือเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการกำหนดแผนงานด้านความยั่งยืนขององค์กร

ล่าสุดในการเปิดตัวโครงการ 3 โครงการต้นแบบ เซ็นทรัลทำ ที่จังหวัดอุดรธานี ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการทำงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล โดย “ดร.ประสาร” บอกว่า แต่เดิมนั้นหากพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ มักจะได้ยินคำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

“แต่ในระยะต่อมามักจะได้ยินคำว่า ความยั่งยืน ในบริบทต่าง ๆ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละองค์กร หน่วยงาน ทั้งการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การลดความอดอยาก ตลอดจนการจ้างงาน การเติบโตไปพร้อม ๆ กันทั้ง stakeholder หรือแม้กระทั่งการทำอะไรก็แล้วแต่ในรุ่นของเราที่ไม่ไปเอาเปรียบคนในรุ่นหน้า โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากร ซึ่งโดยรวมแล้วนิยามเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายไปสู่ความยั่งยืน”

“แต่หากนำความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่การปฏิบัติ โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองเป็นคาถา 3 ข้อ คือ 1) การทำอะไรก็แล้วแต่อย่าคิดถึงผลประโยชน์ระยะสั้น ให้คิดถึงประโยชน์ระยะยาว 2) ทำอะไรอย่าคิดถึงเฉพาะปริมาณ หรือการเติบโตของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ให้คิดถึงคุณภาพของสิ่งที่เราทำ และ 3) เวลาทำอะไรก็แล้วแต่อย่าคิดถึงเฉพาะตัวเรา บริษัทเรา ลูกน้องเรา แต่ให้คิดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย stakeholder ต่าง ๆ ซึ่งผมมองว่าจะแนวคิดไหน นิยามไหน มุมมองไหน สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน คาถา 3 ข้อนี้ ถือว่าครอบคลุมมาก”

อย่างเราเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยกับผู้คน สังคม ชุมชน กรณีนี้ยกตัวอย่างชุมชนกลุ่มผู้ปลูกผักบ้านนาดี ต.นาดี อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่กลุ่มเซ็นทรัลต้องการให้เกษตรกรผลิตของที่ดี มีคุณภาพ ตรงนี้ถือว่าทำให้เห็นการพึ่งพากัน และเมื่อขยายมาภาพที่กว้างขึ้น ถ้าประชาชนได้รับประทานอาหารสะอาด ปลอดสารเคมี ทำให้สุขภาพดี ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้ เขาเหล่านั้นก็จะมาเป็นลูกค้าเรา

“ดร.ประสาร” กล่าวอีกว่า และถ้าเกษตรกรมีฐานะที่ดีขึ้น ผู้คนมีรายได้ที่ดี ลูกหลานมีการศึกษาดี ต่อไปก็จะมีบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นแรงงานที่ดี ทำให้ธุรกิจสามารถสรรหาคนเก่งมาทำงานกับองค์กรได้ ตรงนี้ทำให้ธุรกิจและสังคมเป็นเนื้อเดียวกัน จะทำให้ทั้งสองเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง ยั่งยืน

“เมื่อมีโอกาสเข้ามาที่กลุ่มเซ็นทรัล ผมจึงพยายามอธิบายว่า ธุรกิจกับสังคมมีความสัมพันธ์กัน เป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะนำเอาศักยภาพหรือความเชี่ยวชาญของเซ็นทรัลที่มีอยู่ ซึ่งถือว่ามีมูลค่าอย่างมาก มาช่วยยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและผู้บริโภค มากกว่าการมุ่งไปทำกิจกรรมประเภทที่เน้นการบริจาคเงิน หรือกิจกรรมวันเดียวจบเท่านั้น”

“และถ้านิยามความยั่งยืนในความหมายของเซ็นทรัล ผมยังเชื่อว่าคาถา 3 ข้อที่พูดไปข้างต้นนั้น ถือว่าครอบคลุมในทุกมิติ ส่วนความท้าทายในเรื่องความยั่งยืนในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ผมมองว่าประเด็นการเป็นหุ้นส่วนในความร่วมมือ (partnership) เป็นเรื่องยากที่สุด ทั้งยังเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้”

“ถ้ามองดี ๆ เรื่องการเป็นหุ้นส่วนในความร่วมมือ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดของธุรกิจเซ็นทรัล เพราะออกมาในรูปแบบที่เป็นโจทย์ของสังคม หรืออีกนัยหนึ่งแล้วดูเหมือนว่าจะทำง่าย แต่เอาเข้าจริงแล้วในการปฏิบัติถือว่ายากมาก”

วันนี้ถามถึงทิศทางและเป้าหมายของการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล “ดร.ประสาร” บอกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน คล้ายกับงานปฏิรูปหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่เป็นงานโครงการที่มีเวลาเริ่มต้น และเวลาสิ้นสุด เป็นเหมือนการเดินทาง (journey) ที่ไม่มีเวลาจบ มีแต่ว่าจะทำเพิ่มให้ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างการเลิกใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการจัดการขยะ ที่เรามีนโยบายไม่แจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า ตรงนี้เป็นความพยายามในการเดินทาง ซึ่งผลลัพธ์อาจจะได้ประมาณหนึ่ง แม้ว่าจะลดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ในสังคมวงกว้างยังมีขยะพลาสติกอีกเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จึงไม่มีจึงเหมือน เป็นเหมือนการเดินทาง

“การทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของเซ็นทรัล แม้ว่าเหมือนเป็น journey แต่ไม่ใช่การทำไปเรื่อย ๆ ไม่มีตัวชี้วัดใด ๆ เลย เพราะเรามีการติดตาม มอนิเตอร์การทำงานทั้ง 4 มิติ ภายใต้โครงการเซ็นทรัลทำ และยังได้มีการพัฒนาตัวชี้วัดในการประเมินการทำงานด้านความยั่งยืนขององค์กร”

“เพื่อให้เรารู้จักตนเอง ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นอย่างไร จะต้องปรับปรุง พัฒนา และแก้ไขอะไร ที่สำคัญ สิ่งที่เราทำออกมานั้นสร้างคุณูปการให้กับสังคมวงกว้างอย่างไรบ้าง”

 

คลิกอ่าน >>> โมเดลต้นแบบ “เซ็นทรัลทำ” สร้างงาน-สร้างชุมชนที่ยั่งยืนยั่งยืน