โมเดลต้นแบบ “เซ็นทรัลทำ” สร้างงาน-สร้างชุมชนที่ยั่งยืน

เพราะ “การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” หรือที่เรียกว่า “ซีเอสอาร์” จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่การบริจาคเงิน การช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนสิ่งของต่าง ๆ เท่านั้น

แต่วันนี้การทำซีเอสอาร์ถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจ ที่มองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งยังให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันมีหลายองค์กรที่นำเอาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับ “ซีเอสอาร์” และ “ความยั่งยืน” มาเป็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและสังคม โดยเฉพาะการนำเอาศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่มีของธุรกิจมาสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคม หรือที่เรียกว่า “CSV (creating shared value)”

เช่นเดียวกับ “บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด” ที่ตลอดระยะเวลากว่า 71 ปี ของการดำเนินธุรกิจ ได้มีการจัดกิจกรรม และโครงการเพื่อสังคมมากว่า 1,000 โครงการนำเอาแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคมมาใช้เป็นแกนหลักในการทำงาน ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัลทำ (Central Tham)” เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่านการทำงานใน 4 มิติ ได้แก่

หนึ่ง PEOPLE ที่มุ่งพัฒนาการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนของประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของคน

สอง COMMUNITY มุ่งพัฒนาสินค้าชุมชน ด้วยการนำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ชุมชน เกษตรกร พร้อมส่งเสริม SEMs

สาม ENVIRONMENT มุ่งพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในสังคม

และ สี่ PEACE & CULTURES มุ่งสืบสานและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อสร้างเป็นอาชีพและรายได้ให้กับท้องถิ่น

โดยการผสานความร่วมมือในการทำงานภายในองค์กร เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกกลุ่มธุรกิจของเซ็นทรัล ผ่านรูปแบบ “เซ็นทรัลลิตี้ (Centrality)” ไปพร้อม ๆ กับการสร้างพันธมิตร (partnerships) จากภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน คู่ค้า ผู้บริโภค ตลอดจนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสำเร็จร่วมกันของทุกภาคส่วน

และทำให้ธุรกิจของเซ็นทรัลกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัลได้เปิด 3 โครงการต้นแบบ เซ็นทรัลทำ จังหวัดอุดรธานี ที่มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย ซึ่งประกอบด้วย 1) โครงการจริงใจ Farmers” Market 2) โครงการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกผักบ้านนาดี ต.นาดี อ.เมือง จ.อุดรธานี และ 3) โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project)

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า การดำเนินโครงการเพื่อสังคม เซ็นทรัลทำ ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ถือเป็นการนำเอาประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจมาผสานกับความเชี่ยวชาญของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน ใน 3 โครงการ

พิชัย จิราธิวัฒน์

อย่างโครงการจริงใจ Farmers” Market ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 7 เดือน ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยจากชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถพบปะผู้ซื้อโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง”

“เพราะตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร ด้วยการรับซื้อสินค้าตรง โดย เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ เพื่อจำหน่ายในสาขาต่าง ๆ กว่า 270 สาขา แต่กระนั้นยังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างครอบคลุม ตรงนี้จึงเป็นที่มาของโครงการจริงใจ Farmers” Market”

“พิชัย” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสินค้าเกษตรที่มาขายในตลาดจริงใจ Farmers” Market อุดรฯ จะมีทั้งผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ และอาหารปลอดภัย โดยมีกว่า 315 รายการ หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ซึ่งผู้บริโภคสามารถมั่นใจในความสด สะอาด ปลอดภัย และราคาเข้าถึงได้ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่มาคอยตรวจหาสารพิษอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ที่สำคัญยังตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการงดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า และนำเอาวัสดุธรรมชาติมาใช้ทดแทน ทั้งยังมีการรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใส่สินค้าอีกด้วย

“ปัจจุบันโครงการจริงใจ Farmers’ Market อุดรฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมจาก 54 ตำบล จำนวน 350 ครัวเรือน มีสมาชิกกว่า 1,050 คน และใน 7 เดือนที่ผ่านมามียอดขายรวมอยู่ที่ 22 ล้านบาท สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกว่า 317% จากเดิมที่รายได้ต่อหัวต่อเดือนอยู่ที่ 13,500 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 42,850 บาทต่อเดือน และจากความสำเร็จดังกล่าว เรายังตั้งเป้าที่จะยกระดับให้ตลาดจริงใจ Farmers” Market อุดรฯ เป็นศูนย์เรียนรู้อีกด้วย”

“และในปี 2562 นี้กลุ่มเซ็นทรัลยังมีแผนที่จะขยายโครงการจริงใจ Farmers” Market ไปให้ครบ 15 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ อ.หนองหาน จังหวัดอุดรธานี เชียงราย ขอนแก่น พะเยา ส่วนอีก 10 แห่ง ได้แก่ จ.อุบลราชธานี, จ.สิงห์บุรี, จ.พิจิตร, จ.เชียงใหม่, จ.นครศรีธรรมราช, จ.สุราษฎร์ธานี, จ.นครราชสีมา, จ.สงขลา และแจ้งวัฒนะ, รัตนาธิเบศร์อีกด้วย”

ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนปลูกผักตำบลบ้านนาดี อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยในเรื่องนี้ “พิชัย” บอกว่า เราได้ให้การสนับสนุนงบประมาณกว่าสี่แสนบาทในการปรับปรุงอาคารเก่าของกรมชลประทาน ให้เป็นอาคารคัดบรรจุผักกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านนาดี รวมถึงการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการคัดล้าง ตกแต่ง และบรรจุผัก

“ทั้งยังได้ส่งทีมงานท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตเข้ามาให้คำแนะนำแก่ชุมชนเกี่ยวกับวิธีการคัด บรรจุให้สวยงาม โดยใช้วัสดุพื้นถิ่นที่สามารถหาได้ง่ายภายในชุมชน ปัจจุบันกลุ่มผู้ปลูกผักบ้านนาดีมีผลผลิตอยู่ที่ 2-3 ตันต่อเดือน โดยส่วนใหญ่จะเป็นผักพื้นบ้านปลอดภัยตามฤดูกาล ซึ่งนำไปจัดจำหน่ายที่โรงพยาบาลอุดร, โรงพยาบาลค่ายประจักษ์, ตลาดจริงใจ Farmers” Market อุดรฯ รวมถึงท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ร่วมรับซื้อผลผลิต อีกทั้งในอนาคตต่อไปกลุ่มเซ็นทรัลมีแผนที่จะเพิ่มผลผลิตให้หลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงการแปรรูปผักต่าง ๆ เพื่อทำเป็นขนมขบเคี้ยวด้วย”

ขณะที่โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนบ้านหนองนาคำ ควบคู่กับ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เพื่อเชื่อมต่อการศึกษามัธยมกับสายอาชีวะ ในการฝึกทักษะอาชีพ มุ่งผลิตคนเก่งและดีเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นระยะเวลา 5 ปีนั้น “พิชัย” กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานีถือเป็นโรงเรียนต้นแบบ สาขาวิชาเรียน ปวช.-ปวส. ที่กลุ่มเซ็นทรัลร่วมพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้เชื่อมโยงกับการฝึกงานและการทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่

หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ ที่กลุ่มเซ็นทรัลส่งตัวแทนผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์เข้าแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปศึกษาดูงาน ณ คลังสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลที่บางนา รวมถึงฝึกงานกับธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ ท็อปส์, ออฟฟิศเมท และเซ็นทรัล ออมนิ โลจิสติกส์ หลักสูตรการโรงแรม-การท่องเที่ยว เราได้ส่งบุคลากรจากโรงแรมเซนทารา อุดรฯ มาร่วมแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ด้านการโรงแรม ตลอดจนรับนักศึกษามาฝึกงานที่โรงแรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีแผนที่จะจำลองห้องพักโรงแรมเสมือนจริงในวิทยาลัยอีกด้วย

และหลักสูตรเทคโนโลยีออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ที่กลุ่มเซ็นทรัลเล็งเห็นคุณค่าของประสบการณ์ จึงมีแผนสนับสนุนให้วิทยาลัยแบ่งปันความรู้แก่โรงเรียนบ้านหนองนาคำ และชุมชนผ้าทอมือโบราณบ้านโนนกอก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าจากการออกแบบดีไซน์ให้มีความทันสมัย โดนใจผู้บริโภคอีกด้วย

“ต่อไปในอนาคตกลุ่มเซ็นทรัลยังมีแผนจะร่วมพัฒนาหลักสูตรร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ใน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการจัดการธุรกิจค้าปลีก และหลักสูตรอาหารและภชนาการอีกด้วย”

นับเป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญของกลุ่มเซ็นทรัลที่มีอยู่มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมได้ยั่งยืน

 

ลิกอ่าน >>> ประสาร ไตรรัตน์วรกุล 3 คาถาสู่ความยั่งยืน