“ไทยออยล์” เพิ่มสีเขียวให้โลก หนุนคน-ป่าอยู่ร่วมอย่างสมดุล

การแก้ไขภาวะโลกร้อนถือว่าเป็น “วาระของโลก” ก็ว่าได้ อากาศที่ร้อนขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสในทุกปี ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ประชากรของโลกหันมาให้ความสำคัญ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก อย่างเช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ผู้กุมกำลังการกลั่นน้ำมันที่ 275,000 บาร์เรล/วัน ถือว่าเป็นโรงกลั่นอันดับ 1 ของไทย ที่กำลังสานต่อวาระของโลกด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ รวมไปจนถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงกลั่นน้ำมัน และในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทไทยออยล์ได้ร่วมมือกับองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกรมป่าไม้ ภายใต้โครงการ “ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนเฉลิมพระเกียรติ” ที่ชุมชนบ้านเขาใหญ่ ตำบลพลวงทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ฉายภาพสถานการณ์ของพื้นที่ป่าที่เหลือของไทยอยู่เพียง 100.24 ล้านไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น ทั้งที่สภาพความเป็นจริง พื้นที่ป่าจะต้องเหลืออยู่ราวร้อยละ 40 ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานของภาครัฐจึงกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่า จะต้องรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร พร้อมทั้งสร้างความ “สมดุล” ระหว่างพื้นที่ของการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์จากป่า ฉะนั้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบของ “ป่าชุมชน” และดึงภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน

“นายวิโรจน์ มีนะพันธ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ระบุถึงความร่วมมือภายใต้โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนฯ และกลยุทธ์การด้านซีเอสอาร์ในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า ตามเป้าหมายการดูแลสังคมจะประกอบไปด้วย 1) ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) ด้านการสาธารณสุข 3) ด้านการศึกษา 4) ด้านศาสนา และ 5) ด้านวัฒนธรรมและประเพณี ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนบ้านเขาใหญ่รวม 50 ไร่

โดยผู้เข้าร่วมโครงการคือพนักงานใหม่ รวมกับนักศึกษาฝึกงานและนักศึกษาทุนของไทยออยล์ รวมกว่า 350 คน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมให้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกายด้วยการนำสถิติการวิ่งและการเดินมาแลกกับกล้าต้นไม้เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่เป้าหมาย นอกจากนี้ไทยออยล์ยังนำวัสดุเหลือใช้จากโรงกลั่นน้ำมัน มาจัดทำเป็น หอสังเกตไฟป่า พร้อมทั้งการจัดทำฝายชะลอน้ำ และการทำโป่งเทียม เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และถือเป็นการตอบแทนสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าสร้างความยั่งยืนต่อไป

“ทุกโปรเจ็กต์ในการดูแลสังคมของเครือ ปตท. นอกจากการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องการรักษาอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Indexes) และให้เป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยหลักของไทยออยล์จะเน้นไปที่ “พลังงานสะอาด” หรือ clean energy เป็นเป้าหมายที่ 7 และในเรื่องสุขภาพ อนามัย และโครงการที่ไทยออยล์นำมาใช้ คือ sustainable energy เป็นโครงการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) อยู่ในระหว่างรณรงค์ เพราะยังมีหลายประเทศที่ยังขาดแคลนด้านพลังงาน รวมไปจนถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ไทยออยล์ได้นำเป้าหมายเหล่านี้มาใช้เป็นแนวทาง ประกอบกับเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ ไทยออยล์จึงมีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และมีการประสานกันในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้าง impact และกระจายความเชี่ยวชาญออกไป” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตามที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้ให้นโยบายด้านซีเอสอาร์ว่า จะต้องมุ่งไปที่รูปแบบกิจการเพื่อสังคม หรือ SE (social enterprise) ที่ต้องนำวิธีการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกรวมกับความรู้และนวัตกรรมนั้น สำหรับไทยออยล์ได้สนับสนุนด้วยการให้งบประมาณไปยังบริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด เพื่อไปดำเนินการลงทุนร่วมกับชุมชน เพื่อนำสินค้าชุมชนมาพัฒนาและส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตตรงตามที่ต้องการ นำมาจำหน่ายต่อในร้านกาแฟอเมซอนด้วย

ทั้งนี้ บริษัทไทยออยล์กำลังพิจารณาให้มีการขยายร้านกาแฟอเมซอนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาล พร้อมกับหารูปแบบในการดำเนินการด้านวิสาหกิจสัมพันธ์ด้วยรูปแบบอื่น ๆ อย่างเช่น การจ้างงานของคนในพื้นที่และสำหรับผู้ด้อยโอกาส และเมื่อมีกำไรจากการดำเนินการก็จะนำกลับมาพัฒนาท้องถิ่น ในเบื้องต้นไทยออยล์อยู่ระหว่างการพิจารณาพัฒนาอาชีพนวดแผนโบราณ เพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

“ต้องดูในเชิงที่ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ เพราะโครงการของไทยออยล์เน้นไปที่เรื่องความยั่งยืน ฉะนั้น จึงต้องดูตลาด ราคาเป็นอย่างไร เพราะสำหรับวิสาหกิจชุมชนนั้นมีการทำหลากหลายโครงการในเครือ ปตท. เช่น สถานที่รับเลี้ยงเด็กในช่วงที่พ่อแม่ไปทำงาน ถือเป็นอีกแนวทางในการสร้างอาชีพ ชุมชนได้ประโยชน์ด้วย ที่สำคัญคือ ต้องมีผลกำไรบ้าง แต่จะไม่นำรายได้กลับมาที่ไทยออยล์ แต่จะนำมาพัฒนาชุมชนพร้อมกับต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป เพื่อสร้าง impact ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินในเชิงกลยุทธ์ด้านซีเอสอาร์ในเครือ ปตท.นั้น นายวิโรจน์สรุปให้ฟังว่า แต่ละบริษัทในเครือ ปตท.จะดำเนินการจาก “จุดแข็ง” ที่แต่ละบริษัทมี บริษัทแม่อย่าง ปตท.เน้นทำโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่วนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC จะเน้นโปรเจ็กต์รีไซเคิลพลาสติก ตามหลัก circular economy ขณะที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ส่วนไทยออยล์จะเน้นย้ำความเป็น “พลังงานเพื่อชุมชน” แม้ว่ารูปแบบโครงการอาจจะแตกต่าง แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความยั่งยืนของทั้งธุรกิจและชุมชน