“Facebook” เพื่อสังคม สร้างแชตบอตช่วยผู้พิการสายตา

“Facebook” คือสังคมออนไลน์ที่ให้สมาชิกทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้ใช้งานท่านอื่นได้ เช่น การเขียนข้อความ เล่าเรื่อง ความรู้สึก แสดงความคิดเห็น แชร์รูปภาพหรือวิดีโอ รวมไปถึงการพูดคุยกันผ่านตัวหนังสือ หรือเสียง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการของเฟซบุ๊กได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือ คนกลุ่มนั้นคือกลุ่มผู้บกพร่องด้านสายตา ที่มีในเมืองไทยกว่า 700,000 คน

สำหรับเรื่องนี้ Facebook เองไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน รวมไปถึงการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น Read for the Blind และ HBOT ในการเปิดตัว Bot for Messenger เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการทางสายตาเมื่อไม่นานผ่านมา

“แมทธิว คิง” วิศวกร Facebook สหรัฐอเมริกา พนักงานที่มีความบกพร่องด้านสายตาคนแรกขององค์กร และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโปรเจ็กต์การอธิบายภาพด้วยเสียง (automatic alt-text) ที่ริเริ่มในปี 2016 กล่าวว่าจากการสำรวจของ Facebook ใน 50 ประเทศพบว่าร้อยละ 30 ของผู้ใช้งาน Facebook มีปัญหาต่าง ๆ อย่างน้อย 1 ด้าน เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน การพูด การเรียบเรียงความคิด การเดินหรือการหยิบจับ ทั้งยังพบอีกว่า 1 ใน 10 ของผู้คนจะต้องอาศัยฟังก์ชั่นขยายหน้าจอเมื่อใช้งานบราวเซอร์ของ Facebook ในขณะที่ร้อยละ 20 ของผู้ใช้งาน Facebook จำเป็นต้องขยายขนาดตัวอักษรบนระบบปฏิบัติการ iOS

“เรามองว่าการเข้าถึงข้อมูลเป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกคน และเมื่อแต่ละคนมีการเชื่อมต่อกัน ทุกคนต่างได้รับประโยชน์ และร่วมมือกันสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ในแต่ละวันมีการแชร์รูปภาพบนเฟซบุ๊กมากกว่า 2 พันล้านรูป ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ เราจึงมองหาโซลูชั่นที่ใช้เทคโนโลยี AI (artificial intelligence) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มได้มากกว่าโซลูชั่นที่ใช้มนุษย์เป็นหลัก”

“Facebook ศึกษาวิธีการใช้งานของกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสายตามาโดยตลอด เพื่อนำไปพัฒนาระบบ และช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึง และเชื่อมต่อกับผู้คนและสิ่งต่าง ๆ บนFacebook ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
ผมในฐานะผู้ที่พิการทางสายตา และทำงานที่เฟซบุ๊กมากว่า 20 ปี จึงพยายามที่จะพัฒนาโปรเจ็กต์ที่ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาด้วยการสร้างฟังก์ชั่นอธิบายวัตถุต่าง ๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพเป็นเสียง สามารถทราบได้ว่ามีใครหรือสิ่งใดปรากฏอยู่ในรูปบนนิวส์ฟีดของพวกเขาบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดโอกาสอื่น ๆ อีกในอนาคต นอกจากนั้น เฟซบุ๊กยังพัฒนาฟีเจอร์การจดจำใบหน้า (face recognition) กลุ่มผู้ใช้งานที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็นด้วย”

“ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” ผู้ร่วมก่อตั้ง Read for the Blind และกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) บนเฟซบุ๊ก กล่าวเสริมว่าข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเผยว่า มีประชากร 285 ล้านคนที่สูญเสียความสามารถด้านการมองเห็นอย่างรุนแรง เช่น มีระดับค่าสายตาเกินกว่าระยะ 20 ฟุต และต้องอาศัยเครื่องมือเพื่อช่วยขยายและอ่าน ในขณะที่มีจำนวน 39 ล้านคนเป็นผู้พิการทางสายตา อาจต้องใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าช่วย และราว 360 ล้านคนมีความผิดปกติด้านการได้ยินรวมอยู่ด้วย อาจต้องอาศัยการบรรยายแทนเสียง

“ขณะที่ผู้พิการทางด้านสายตาในประเทศไทยส่วนมากยังขาดแคลนความช่วยเหลือ และอุปกรณ์ในการสื่อสาร ผมจึงเกิดความคิดในการก่อตั้ง Read for the Blind ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นบนมือถือและเพจบน Facebook โดยใช้งานคลาวด์ซอร์ซซิ่งที่ทำให้อาสาสมัครสามารถสร้างสรรค์หนังสือเสียงให้กับผู้พิการทางสายตา โดยตอนนี้มีอาสาสมัครจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่ต้องการให้ช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา”

“นอกจากนั้น เรายังขยายไปสู่การสร้างกลุ่มบน Facebook ที่มีชื่อว่าช่วยอ่านหน่อยนะ โดยได้เชื่อมต่ออาสาสมัครจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยกว่า 13,300 คนกับผู้พิการทางสายตา โดยอาสาสมัครจะแปลงภาพต่าง ๆ เป็นเสียง ซึ่งภาพเหล่านั้นถูกโพสต์อยู่ในส่วนของการแสดงความคิดเห็น ทำให้ผู้พิการทางสายตาได้รับรู้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต รวมไปถึงยังมีการจัดงานพบปะระหว่างสมาชิกกลุ่ม เพื่ออ่านหนังสือร่วมกัน ช่วยกันสร้างหนังสือเสียง และจัดเวิร์กช็อปเพื่อฝึกทักษะการออกเสียงอีกด้วย”

“Facebook มีส่วนช่วยพวกเรานับตั้งแต่วันแรกคือการช่วยสร้างความรู้สึกของการเป็นชุมชนที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสายตาในประเทศไทยร่วมกัน ในวันนี้ เพจ Read for the Blind ของเรามีจำนวนผู้ติดตามมากกว่า 187,000 คน และพวกเขาเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จาก Bot for Messenger ที่ทาง HBOT พัฒนาให้เรา ซึ่งจะช่วยในการสรรหาอาสาสมัครที่มีความตั้งใจช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการทางสายตาได้ดีมากขึ้น”


“ชลทิพย์ ยิ้มย่อง” ผู้ร่วมก่อตั้ง Read for the Blind และกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ และยังทำหน้าที่แอดมินของทั้ง 2 ชุมชนกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้มีความพิการด้านสายตามักประสบปัญหาในการหาความช่วยเหลือด้านพื้นฐานในแต่ละวัน ด้วยจำนวนผู้คนกว่า 13,000 คนที่มาเข้าร่วมกลุ่ม Read for the Blind และ Help Us Read เราจึงสามารถเชื่อมต่อผู้มีปัญหาด้านสายตาเข้ากับกลุ่มอาสาสมัครที่ต้องการช่วยเป็นหูเป็นตาให้กันและกันอย่างเต็มใจ

“เครื่องมือต่าง ๆ บน Facebook ยังช่วยให้เราเข้าถึง และอ่านคอนเทนต์ทั้งหลายได้อย่างสะดวกสบายกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นคำอธิบายสำหรับวิดีโอ ป้ายข้อความ หนังสือ หรือแม้กระทั่งรูปภาพและการ์ดอวยพรจากลูก ๆ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มชุมชนของเราผ่านทางสมัชชาคนตาบอดได้มีการโหวตให้ Facebook เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชั่นที่เป็นมิตรและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงให้กับผู้พิการทางสายตาได้มากที่สุด (TAB Digital Inclusive Award)”

“ชญานิษฐ์ ศรีนาคอ่อน” ซีอีโอ HBOT กล่าวว่า Facebook เป็นผู้นำโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มระดับโลก และเรารู้สึกว่าการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ด้านโซลูชั่นจะช่วยผลักดันโปรเจ็กต์นี้ให้แก่ชุมชน Read for the Blind เป็นประโยชน์อย่างมาก

“เราเชื่อว่าทุกธุรกิจควรเข้าถึงเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพให้ก้าวกระโดดจากมาตรฐานในปัจจุบัน เราจึงร่วมมือสรรค์สร้าง Bot for Messenger ให้แก่ Read for the Blind ซึ่งมีความหมายมากสำหรับเรา และเราหวังว่าแชตบอตนี้จะสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าภายในชุมชนในระยะยาวอีกด้วย”

“HBOT ก่อตั้งเมื่อปี 2017 ด้วยจุดมุ่งหมายที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย และเราได้ทำงานร่วมกับเฟซบุ๊กมาโดยตลอด ในการพัฒนาแพลตฟอร์มบอตสำหรับทุกคนที่ทำเพจ โดยไม่คำนึงถึงงบประมาณ ขนาดธุรกิจ และความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค โดยเราช่วยให้ผู้ใช้ได้สร้างแชตบอตโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อีกทั้งบริษัทยังจัดเวิร์กช็อปเพื่อต่อยอดพัฒนาบอตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลิกของบอต รวมถึงให้คำปรึกษาในส่วนของการออกแบบวิธีการโต้ตอบ”

ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจึงสร้างคอมมิวนิตี้พัฒนานักสร้างแชตบอตมากฝีมือ โดยรวบรวมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เจ้าของธุรกิจร้านค้า ตลอดจนผู้สูงอายุเข้าร่วมเวิร์กช็อปและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพอยู่เสมอ