“ทำงานที่บ้าน” อย่างไร “ให้ได้งาน”

คอลัมน์ HR Corner โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ

ตอนนี้มีหลายบริษัทใช้นโยบาย work from home แล้ว และอีกหลาย ๆ บริษัทอยากจะเริ่มใช้ แต่มีความกังวลว่าจะใช้อย่างไรให้ได้ดีที่สุด เพราะบางบริษัทกังวลว่าจะทำอย่างไรให้ติดตามการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พนักงานไม่อู้ หรือไม่ทำงาน หรือจะทำอย่างไรให้พนักงานมีความรับผิดชอบในงานเหมือนกับทำงานในที่ทำงานต่าง ๆ

เรามาดูกันว่า นโยบาย work from home หรือ WFH ที่มีคนนำไปใช้มีผลเป็นอย่างไรกันบ้าง จริง ๆ แล้วผลตอบรับมีทั้งดีและไม่ดี (จนบางบริษัทก็ปรับนโยบายเรื่องนี้เลยอย่าง IBM ในหน่วยงานการตลาด หรือ Yahoo เป็นต้น โดยที่ปรับให้กลับมาทำงานที่ทำงาน)

ในด้านบวกผลการสำรวจบอกตรงกันว่า การ work form home เหมาะกับคนรุ่นใหม่จริง ๆ และถ้าใช้ให้เป็น จะทำให้เกิด productivity ในการทำงานเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review พบว่าพนักงานที่ทำงานที่บ้านประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มที่ถูกบังคับให้เข้าออฟฟิศ

นอกจากนี้ ยังมีงานสำรวจประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน call center ในบริษัท Ctrip ซึ่งเป็นเว็บไซต์สายท่องเที่ยวชื่อดังของจีน ได้แยกพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ทำงานจากที่บ้าน และ 2) กลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศ พบว่าพนักงานที่ทำงานที่บ้านทำงานสำเร็จมากกว่าอีกกลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศถึง 13.5%

ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การช่วยลดต้นทุนของบริษัท ทั้งทางตรง (เช่น การลดพื้นที่ใช้ทำงานลง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล) และทางอ้อม คือ การที่พนักงานรักองค์กรไม่อยากลาออก หรือพนักงานไม่ต้องเครียดในการเดินทางมาทำงาน ทำให้ไม่เจ็บป่วย ก็ช่วยลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ เป็นต้น

ส่วนข้อจำกัดในเรื่อง work from home ที่ทำให้ IBM และ Yahoo (และอีกหลาย ๆ บริษัทคิดว่าเป็นปัญหา) คือ การที่พนักงานขาดการทำงานร่วมกัน ขาดการสื่อสารกัน และการที่ไม่ได้ทำงานร่วมกัน หรือคุยกันต่อหน้าทำให้การมีความคิดในการ innovation เป็นไปได้ไม่ดีพอ (มีผลการวิจัยบอกว่า การประชุมแบบไม่เป็นทางการทำให้เกิด innovation idea ได้มากที่สุด) ทำให้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการทำงานแบบ work form home ให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม

ถ้าถามว่าแล้วแบบไหนดี ส่วนตัวคิดว่าแล้วแต่ความเหมาะสม คือ

1) การจะ work from home จะมีประสิทธิภาพสูงสุดกับพนักงานระดับ white collar หรือพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงานมาระยะหนึ่ง และไม่ work กับพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์เลย หรือประสบการณ์น้อย เพราะการทำงานที่บ้านต้องมีความรู้ (ที่ไม่ต้องการให้มีคนสอนตลอดเวลา) มีประสบการณ์ (เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ หรือตัดสินใจได้เองระดับหนึ่ง) และที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบต่อความสำเร็จของงาน (ไม่ใช่จำนวนเวลาที่ใช้ในการทำงาน เพราะไม่มีใครมานั่งจับเวลา) ทั้งหมดที่กล่าวมาพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์จะมีข้อจำกัด

2) พนักงานต้องการมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีทุกรูปแบบ เพราะต้องมีการสื่อสารกันได้ตลอดเวลา (ทางไลน์ ทางวิดีโอคอล และอื่น ๆ) รวมทั้งมีทักษะในการใช้ฟังก์ชั่น review ในแอปต่าง ๆ ให้คล่อง เพราะงานจะต้องทบทวนผ่านแอป ไม่ได้นั่งอธิบายกัน) จุดนี้พนักงานที่มีข้อจำกัดคือพนักงานที่ไม่เก่งเทคโนฯนั่นเอง

3) ลักษณะงานต้องเป็นงานที่เป็นโครงการ หรือเป็นชิ้นงาน หรือไม่เกี่ยวข้องกับใครทาง face-to-face เช่น call center, IT help desk เป็นต้น ถัดไปดิฉันมีเคล็ดลับที่น่าสนใจสำหรับพนักงานที่ทำงานที่บ้านให้ได้งานจริง ๆ มาฝาก โดยนำมาจากคำแนะนำของกลุ่มคนที่ทำงานที่บ้าน

– สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนทำงานที่บ้าน คือ ต้องรู้ว่าจะต้องทำอะไรในแต่ละวัน และต้องมีวินัยที่จะทำให้เสร็จ

– ต้องมีการใช้การเก็บข้อมูลใน cloud ให้เป็นประโยชน์จะทำให้ไม่มีข้ออ้างที่จะไม่มีงานทำเวลาออกไปข้างนอก

– ต้องแต่งตัวทุกวัน (ถ้าไม่แต่งตัวจะมีความรู้สึกว่าวันนี้สบาย ๆ ไม่ใช่วันทำงาน อันนี้สำคัญมากนะคะ)

– ต้องสร้างวินัยในการพบเพื่อน ไม่ใช่ปล่อยให้เพื่อนแวะมาหาได้ที่บ้านตลอดเวลา จนไม่มีเวลาทำงาน (คือต้องทำตัวเหมือนอยู่ออฟฟิศ คือเวลาอยู่ออฟฟิศจะนัดเพื่อนกินข้าวกันได้ แต่ให้เพื่อนเข้ามาทำงานด้วยไม่ได้)

– ต้องปฏิเสธให้เป็น คือการทำงานที่บ้านไม่ใช่เป็นวันว่างของเรา แต่เป็นการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ไม่ใช่ใครชวนไปไหนก็ไปหมด

– แม้ในบ้านเองก็ต้องมีการสื่อสารให้สมาชิกในครอบครัวทราบว่าเวลาไหนห้ามรบกวน เวลาไหนเข้ามาได้ (มีคำแนะนำให้ติด post-it 3 สี แดง (ห้ามรบกวน) เขียว (เข้ามาได้) และเหลือง (เช็กก่อน))

– ลงทุนในการสร้างออฟฟิศที่บ้านให้น่าทำงานที่สุด (มีคำแนะนำด้วยว่าให้ลงทุนกับการซื้อเก้าอี้ทำงานจริง ๆ เพราะไม่เช่นนั้นการทำงานเป็นเวลานาน ๆ จะเป็นปัญหาปวดหลัง ปวดตัว และกลายเป็นข้ออ้างให้ไม่ยอมทำงาน)

– หาเวลาโทร.คุยกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานทุกวันเพื่อเช็กอินว่าสิ่งที่ทำอยู่ถูกต้องตามความคาดหวังหรือไม่ เพราะเราไม่มีโอกาสพบกัน face-to-face เพื่อถามหรือ confirm ประเด็นต่าง ๆ

สำหรับดิฉันคิดว่าการ work form home เป็นนโยบายที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กร ธรรมชาติธุรกิจ และงาน รวมทั้งความพร้อมของพนักงาน เพราะอย่าลืมว่าการทำงานที่บ้านให้ได้งานนั้นสำคัญที่สุด คือ ความรับผิดชอบของพนักงาน (ที่จะทำงานให้สำเร็จ) โดยไม่ต้องมีคนติดตามดูทุกวัน ถ้าเราไม่แน่ใจอาจเริ่มด้วยการทำงานที่บ้านบ้าง (3 วัน) แล้วเข้ามาเช็กอินที่ออฟฟิศบ้าง (2 วัน) ก็น่าจะเป็นการทดลองเริ่มต้นที่ดีได้


อย่าลืมค่ะยุคนี้ยุค agile ทำไปปรับไปให้เหมาะกับเรามากที่สุด