เกรต้า ธันเบิร์ก บุคคลแห่งปี? พลเมืองแห่งอนาคต

Photo by Stefano Guidi/Getty Images

คอลัมน์ CSR Talk โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ


เป็นธรรมเนียมไปแล้วเมื่อถึงปลายปีที่นิตยสารไทม์ นิตยสารชื่อดังของอเมริกาจะประกาศชื่อ บุคคลแห่งปี หรือ Person of the year บุคคลที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนโลก สำหรับในปีนี้ไทม์ได้เลือก “เกรต้า ธันเบิร์ก” (Greta Thunberg) สาวน้อยธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกับการต่อต้านภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้วยวัยเพียง 16 ปี เกรตาจึงกลายเป็นบุคคลแห่งปีที่อายุน้อยที่สุด จากประวัติศาสตร์กว่า 90 ปีที่มีการจัดอันดับนี้ขึ้นมา

ภาพปกของนิตยสารไทม์ฉบับนี้ เป็นภาพที่ “เกรต้า” ยืนอยู่บนโขดหินท่ามกลางฟองคลื่นที่ซัดกระจายริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ซึ่งเธอเคยล่องเรือพลังงานแสงอาทิตย์ข้ามจากยุโรปไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีสหประชาชาติ ว่าด้วยการจัดการสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเธอตั้งใจเอาไว้ว่าในชีวิตนี้จะไม่เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบนปกยังมีข้อความสั้น ๆ ว่า “พลังของคนรุ่นใหม่”

ผมสนใจแววตาของ “เกรต้า” บนปกไทม์ เพราะเป็นแววตาที่ไม่คุ้นนัก โดยปกติแล้วเราจะเห็นภาพเธอในการเคลื่อนไหว อภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ที่มีส่วนในการผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยความจริงจัง ดุดัน จนหลายคนมองว่าเธอเป็นเด็กก้าวร้าว

แต่แววตาที่ปรากฏบนปกไทม์ฉบับนี้กลับอ่อนโยน เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง เหมือนต้องการจะสื่อสารกับเยาวชนคนรุ่นเดียวกับเธอ ถึงวันข้างหน้า วันที่พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของโลกใบนี้

ประโยคหนึ่งที่ “เกรต้า” พูดบนเวทีสหประชาชาติส่งตรงไปยังผู้นำประเทศต่าง ๆ ว่า “พวกเราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

แต่พวกคุณทุกคนกลับพูดถึงแต่เรื่องเงิน และเรื่องเพ้อฝันของการเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกคุณกล้าดีอย่างไร…!”

คำทวงถามของ “เกรต้า” ต่อรัฐบาลต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศให้เร่งตัดสินใจกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยืดเยื้อมานาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

“เราไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ หากโลกใบนี้ไม่มีอนาคต” “เกรต้า” อธิบายเหตุผลของการเคลื่อนไหว เพราะถ้าผู้ใหญ่ยังไม่ทำอะไรกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ย่อมส่งผลกระทบต่ออนาคตของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกับเธอที่จะเติบโตขึ้นมาใช้ชีวิตต่อบนโลก และเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงขึ้นจนไม่อาจจะแก้ไขได้เลย

เรื่องราวและความมุ่งมั่นของ “เกรต้า” ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนจนเกิดปรากฏการณ์ที่มีคนร่วมแคมเปญ Global Climate Strike กับเธอเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา กว่า 4 ล้านคน ใน 170 ประเทศ เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นที่จะเป็นพลเมืองแห่งอนาคต

นอกจากการเป็นบุคคลแห่งปีแล้ว ในปีนี้เธอยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่ก็ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นกระแสหลักของโลกในปีนี้ และความตื่นตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ยืนยันว่ากระแสนี้จะเติบโตต่อไปในอนาคต เป็น mega trend ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจและใส่ใจอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่กำหนดนโยบายที่ดูดีเอาไว้นำเสนอ เพราะการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมคือสิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่เฝ้ามองและชื่นชมหรือตำหนิ อย่างในบ้านเรากรณีเมนูหูฉลามบนโต๊ะจีนงานเลี้ยงของผู้นำประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ยังเป็นประเด็นให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมจากหลายฝ่ายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

หากเราจับสัญญาณจากกรณีของ “เกรต้า” และมองเห็น mega trend ดังกล่าว คงเป็นสิ่งที่เน้นย้ำถึงการทำงานขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องสร้างกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติผ่านกลไกต่าง ๆ ขององค์กร ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี กิจกรรมหรือโครงการ CSR การควบคุมกระบวนการภายในทั้งการประหยัดพลังงาน การจัดการมลพิษ หรือแม้กระทั่งการจัดการของเสียให้เป็น circular economy

ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของกระแสโลกอันนี้ หากองค์กรสามารถสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานและประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ ย่อมได้รับคำชื่นชมในบทบาทของการเป็นพลเมืองโลกที่ช่วยกันสร้างอนาคตให้โลกเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ


ที่มา https://time.com/person-of-the-year-2019-greta-thunberg/