คัดค้านประกันสังคมจ่าย 62% เยียวยา 1.5 ล้านคน ชงจ่าย 75% ลุ้นรัฐสมทบ 25%

ลูกจ้างจี้ประกันสังคม เลิกจ่าย 62% เปลี่ยนใช้ ม.75 เยียวยาแรงงานกระทบ “โควิด-19” ชูไอเดีย กองทุนประกันความเสี่ยง” กู้วิกฤต

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่สำนักงานประกันสังคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ชนฐิตา ไกรศรีกุล เจ้าหน้าที่วิจัยสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ได้นำภาคีเครือข่ายผู้ประกันตนกว่า 40 องค์กร เข้าพบนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) เพื่อยื่นหนังสือเรื่อง เร่งรัดให้สั่งจ่ายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนร่วมกับภาคธุรกิจในระยะยาว

น.ส.ชนฐิตา เปิดเผยว่า ต้องการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน “ยกเลิก” การเยียวยา ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ตามประกาศกฎกระทรวง ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ซึ่งต้องจ่ายเยียวยาผู้ประกันตน 62% ของอัตราค่าจ้างรายวัน โดยให้ไปจ่ายเงินเยียวยาตาม ม.75 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานฯ แทน เพราะไม่ต้องการให้นำเงินจากประกันสังคมมาใช้กับคนเพียงจำนวนหนึ่ง

“ขณะนี้มีผู้ประกันตนลงทะเบียนขอรับสิทธิ 62 % ประมาณ 1.5 ล้านคน แต่ผ่านวินิจฉัยรับเงินเพียง 1.4 ล้านคน หมายความว่ามีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้เงิน และรอความหวังจากประกันสังคม การจ่าย 75 % จะเป็นผลดีกับผู้ประกันตน เพราะสามารถทำได้ทันที และไม่มีสิ้นสุดระยะการจ่าย อีกทั้งเพิ่มอัตราการเยียวยามากขึ้น ที่สำคัญทำให้ไม่เกิดช่องว่างให้นายจ้างผลักภาระการจ่ายของนายจ้างไปให้สำนักงานประกันสังคม หากรัฐเห็นว่า การจ่าย 75% ไม่เพียงพอ ยังสามารถจ่ายสมทบให้กับลูกจ้างกลุ่มนี้ได้อีก 25% ตามที่รัฐบาลได้กู้เงินมาก็ควรนำเงินดังกล่าวมาเยียวยาผู้ประกันตนเพิ่ม โดยไม่ต้องผลักภาระไปที่ประกันสังคม” นางสาวชนฐิตา กล่าว.

นอกจากนี้ สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น น.ส.ชนฐิตา ระบุว่า จากการหารือในกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีความเห็นตรงกันที่จะเสนอให้ภาครัฐ มีการจัดตั้ง “กองทุนประกันความเสี่ยง” เพื่อนำมาดูแลลูกจ้างในกรณีที่เกิดวิกฤต ซึ่งเจ้าของสถานประกอบการควรนำกำไรจากมาลงขันกันตามสัดส่วน เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

สิ่งที่ลูกจ้างต้องการคือ 1) ให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง มีการบริหารที่คล่องตัวมากขึ้น 2) ต้องการให้เพิ่มคณะกรรมการในบอร์ดประกันสังคม ในส่วนของลูกจ้างมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียง 3 คน ทั้งที่ควรมีส่วนจากลูกจ้างประมาณ 5 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกันจะมีการยื่นเรื่องดังกล่าวไปที่กระทรวงแรงงาน ผ่านไปยัง นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย