9 สิ่งที่ “ผู้นำ” ในภาวะวิกฤต (ไม่) ควรทำ

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

ในภาวะที่สังคมโลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะกับภาวะวิกฤตไวรัสโคโรน่า หรือที่รู้จักกันในชื่อโควิด-19 โรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่เหนือการควบคุมของมนุษยชาติอย่างในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ได้เห็นภาวะผู้นำ และวิสัยทัศน์ของผู้นำทั่วโลกผ่านการบริหารประเทศ ผ่านการแก้ปัญหากันมาไม่น้อย

แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งไม่น้อยไปกว่าการพยายามแก้ปัญหา คือ ผู้นำควรมีวุฒิภาวะ มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง สามารถสร้างขวัญและกำลังใจ ในการนำพาประชาชน องค์กร หรือพนักงาน ฝ่าวิกฤตไปด้วยกันได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ

“ดร.” ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กูรูด้านประชาสัมพันธ์กล่าวว่า หน้าที่ของผู้นำ คือ ต้องสามารถกอบกู้ความเสียหาย หรือสิ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ต่อการดำเนินธุรกิจ ต่อองค์กร ต่อครอบครัว ให้กลับมาสู่วิถีปกติให้ได้รวดเร็วที่สุด และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

“ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของผู้นำ คือ จะต้องสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นที่เชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจของคนในสังคม คำสำคัญของภาวะผู้นำคือ การเป็นที่ไว้วางใจ (trust) และถ้าไม่เป็นที่ไว้วางใจแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ยาก หรือทำได้อย่างลำบากมาก (without trust nothing can happen)”

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ดร.ดนัย” จึงแนะแนวทาง 9 สิ่งที่ “ผู้นำไม่ควรทำ” ในภาวะวิกฤต ดังนี้

1.ผู้นำไม่ควรที่จะพูดอย่าง ทำอย่าง ผู้นำต้อง lead by example โดยเฉพาะเมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการขอความร่วมมือออกมาแล้ว ในนามของรัฐบาลจึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ประกาศอย่างไรแล้วต้องทำอย่างนั้น

2.ผู้นำไม่ควรแสดงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ได้มีการยืนยันทางด้านการแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์ หรือมีหลักฐานรองรับ

3.สร้างความแตกแยก แต่ต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องสร้างความเป็นทีม ต้องไม่กล่าวหาต่อว่าผู้อื่น

4.ไม่ควรโจมตีรายงาน ผลการสำรวจ ผลการวิจัย แต่ควรยอมรับ เผชิญหน้า และหาวิธีการในการแก้ไขสิ่งที่เป็นข้อสรุปของรายงานนั้น ๆ

5.ไม่ควรเอาประโยชน์ส่วนตน เหนือประโยชน์ส่วนรวม ไม่ควรเอาอีโก้ อัตตา ตัวตนของตัวเองเป็นศูนย์กลางกับการจัดการภาวะวิกฤต เพราะถ้าเราทำเช่นนั้น จะทำให้เราไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะ ไร้ซึ่งวุฒิภาวะ ความเป็นผู้นำจะด้อยลงไป

6.แถลงข่าวถี่เกินไป ใช้เวทีแถลงเป็นเครื่องมือในการหาเสียง แย่งซีนผู้เชี่ยวชาญ ในภาวะวิกฤตประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ภาวะนี้ผู้ที่ควรออกหน้าในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ที่ควรออกมาเป็นโฆษกควรเป็นแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ แต่การที่ผู้นำออกมาทุกครั้ง ๆ เสียเวลาไปมากมาย ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ที่สำคัญ ทำให้คะแนนนิยมถดถอยไปเรื่อย ๆ ทำให้ตัวเองเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปด้วย

7.แถลงข่าวนอกประเด็น ไม่อยู่ในสคริปต์ หรือไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในวันนั้น เพราะการออกนอกประเด็นจะทำให้เป็นการเปิดช่องโหว่ในประเด็นอื่นที่ไม่จำเป็นขึ้นมา หรือในบางกรณีหากผู้นำอ่านตามสคริปต์มากเกินไปก็ทำให้ขาดจิตวิญญาณ ขาดพลัง ขาดความมุ่งมั่นในการสื่อสารได้ เพราะภาษากายมีความสำคัญ ภาษาพูดก็สำคัญ content is King but context is Queen สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้นำจะต้องระมัดระวังในภาวะวิกฤต

8.ไม่ควรสื่อสารออกมาแบบไร้ทิศทาง หรือสื่อสารไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

9.ไม่ควรเรียงลำดับความสำคัญผิด เน้นเศรษฐกิจ การเมือง เหนือชีวิตประชาชน

นอกจากนั้น 9 สิ่งนี้ยังเป็นบทพิสูจน์ว่า “ผู้นำ” เก่งจริงหรือไม่ หรือเก่งในระดับไหนอีกด้วย ?