“ประกันสังคม” เล็งตั้งธนาคารหนุนลูกจ้าง-ต่อยอดเงินประกันตน

พิศมัย นิธิไพบูลย์

ประกันสังคมศึกษา 2 แนวทางรับอนาคต หากเกิดเหตุการณ์เหมือนโควิด-19 ซ้ำสอง วอนผู้ประกันตนเลือกวิธีบริหารเงิน-ตั้งธนาคารประกันสังคม ให้คนตกงานเข้าถึงเงินทุนสร้างอาชีพ

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรมและโฆษก สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจให้ต้องหยุดกิจการชั่วคราว และส่งผลให้มีแรงงานตกงานเป็นจำนวนมากนั้น คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) พิจารณาให้โควิด-19 เป็น “เหตุสุดวิสัย” เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ตกงานได้รับการเยียวยาจากประกันสังคมที่ 62% ของอัตราค่าจ้างรายวัน (ประมาณ 9,000 บาท)รวมระยะเวลา 90 วันนั้น จึงทำให้เกิด “ข้อกังวล” จากแวดวงผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมว่าการเยียวยาดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่

เนื่องจากวงเงินดังกล่าวมาจากผู้ประกันตน ซึ่งมีทั้งผู้ตกงาน และไม่ตกงาน ฉะนั้นเพื่อให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเหตุการณ์อื่น ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดการเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ สปส.จึงเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ใน 2 เรื่อง คือ 1) การให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สามารถเลือกรูปแบบการบริหารเงินสมทบตามที่ต้องการได้ และ 2) การจัดตั้ง “ธนาคาร” ประกันสังคมเพื่อรองรับกรณีที่เกิดการว่างงานจำนวนมาก โดยผู้ประกันตนต้องการกู้ยืมเงินเพื่อดำรงชีพ หรือเพื่อนำไปลงทุนสร้างกิจการแทนการเป็นลูกจ้าง

ทั้งนี้ ทั้ง 2 แนวทางต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ในข้อแรก การให้เลือกรูปแบบบริหารเงินเอง อาจมีในแง่ของ “ความเสี่ยง” เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันประกันสังคมใช้วิธีนำเงินไปลงทุนใน “กองทุน” ต่าง ๆ โดยผ่านการพิจารณาจากบอร์ดอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ “ขาดทุน” แต่ในกรณีที่ขาดทุนจะต้องมีวิธีรองรับภาวะดังกล่าวด้วย ส่วนการจัดตั้งธนาคารประกันสังคมนั้นอาจจะซับซ้อนขึ้้น เนื่องจากประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐ อาจมีขั้นตอนมากมายที่ทำให้ไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ และจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาจใช้เวลาค่อนข้างนานมากกว่า 1 ปี

“จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประกันสังคมต้องมองเผื่ออนาคตว่า หากเกิดปัญหาเหมือนเช่นกับโควิด-19 จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิที่เป็นประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนจากการว่างงานด้วย ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในประเทศเริ่มคลี่คลาย แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา และต้องรอเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะงักงันกลับมาฟื้นตัวซึ่งต้องใช้เวลา และในหลาย ๆ โรงงานเริ่มทยอยปิดตัวลง และเลิกจ้างแรงงานมากขึ้นตามมาอีกระลอกแน่นอน”

นางพิศมัยกล่าวเพิ่มเติมถึงการจ่ายเงินเพื่อเยียวยาผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างนั้น คาดว่าจะดำเนินการจ่ายเงินแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ และตามข้อมูลสรุปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประกันสังคมจ่ายเงินไปแล้วประมาณ 12,000 ล้านบาท และในขณะนี้ได้ “ปิดรับ” การยื่นขอรับเงินเยียวยาจากผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว เนื่องจาก “ไม่มี” การระบาดของโควิด-19 แล้ว

ส่วนกรณีที่สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า หากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 มีผู้ประกันตนตกงานเป็นจำนวนมาก จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำเงินที่ประกันสังคมนำไปลงทุนในกองทุนต่าง ๆ กลับเข้ามาเติมเงินในระบบประกันสังคมได้หรือไม่นั้น ได้มีการตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วระบุว่า ให้บอร์ดของประกันสังคมสามารถพิจารณาได้เองทันที

ส่วนในกรณีที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง และรุนแรงมากขึ้นนั้น ในเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมเตรียมเสริมสภาพคล่องไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท หากรัฐบาลมีคำสั่งให้เยียวยาผู้ที่ถูกเลิกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19แต่การดำเนินการครั้งนี้อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะต้องคำนึงถึงเรื่อง “ความมั่นคง” ทางการเงินของประกันสังคมด้วย เนื่องจากเงินทั้งหมดไม่ได้มาจากงบประมาณภาครัฐ หรือภาษี แต่เป็นเงินจากนายจ้าง-ลูกจ้าง และเงินจากภาครัฐที่จ่ายสมทบไว้

“พูดง่าย ๆ คือเงินในระบบประกันสังคมมีเจ้าของอยู่แล้วคือจาก 3 ส่วนที่ว่า ฉะนั้นการจะนำเงินไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม จะต้องถามความเห็น และใช้อย่างระมัดระวัง หากมีการใช้เงินโดยไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ผู้ประกันตนอาจจะยื่นร้องเรียนเข้ามาได้”

ล่าสุดมีรายงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรายงานถึงสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่มีผู้ประกอบการยื่นขอหยุดกิจการทั้งหมด หรือหยุดกิจการบางส่วน ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1,310 แห่ง มีการเลิกจ้างแรงงานกว่า 319,824 คน และเมื่อสรุปรวบยอด 9 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561-21 มิถุนายน 2563 มีการยื่นขอปิดกิจการไปแล้วประมาณ 4,254 แห่ง และมีแรงงานถูกเลิกจ้างรวม 853,696 คน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ดำเนินมาตรการเพื่อเยียวยาผู้ตกงานด้วยเช่นกัน อาทิ มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ในการฝึกอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน การพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงานในระบบให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด