หุ้นธนาคาร กำไรวูบ 45% ซมพิษ “โควิด” ยาวปี’64 ส่อไม่ฟื้น

File Photo: AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

หุ้นธนาคารซมพิษ “โควิด-19” ลากยาวปีหน้ายังไม่ฟื้น บลจ.บัวหลวงประเมินกำไรกลุ่มปีนี้ลดลง 45% หรือมีกำไรสุทธิแค่ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ต้องตั้งสำรองพุ่ง 50% แถมต้องอุ้มลูกค้าฝ่าวิกฤตกดดันรายได้หด ชี้ต้องลงทุนระยะยาว 2-3 ปี ฟาก “บล.ยูบีเอส” ชี้ครึ่งปีหลังกำไรแบงก์ส่อแย่กว่าครึ่งปีแรก

นายเจฟ สุธีโสภณ ผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์กลุ่มธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มธนาคารในปี2563 ยังมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีโอกาสปรับขึ้นเป็น 4-5% จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 3% และการตั้งสำรองหนี้น่าจะเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบปีก่อน

ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกปัจจัยกดดันรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) รวมถึงมาตรการพักหนี้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าตัวเลขการพักชำระหนี้อยู่ที่ 6.8 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของสินเชื่อทั้งระบบ แบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่ 23% สินเชื่อเอสเอ็มอี 47% และสินเชื่อรายย่อย 39%

“เราคาดการณ์กำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ปีนี้จะเหลือแค่ 1.2 แสนล้านบาทหรือลดลง 45% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่โปรแกรมการพักชำระหนี้และการตั้งสำรองเพื่อรองรับ NPL จะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของรายได้แบงก์ปีหน้า”

นายเจฟกล่าวด้วยว่า จากที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นในระยะถัดไปจึงมีโอกาสจะเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ขณะที่ราคาหุ้น (valuation) กลุ่มธนาคารปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก สามารถลงทุนระยะยาว 2-3 ปีได้

นายวรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล CFA กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูบีเอส (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และครึ่งปีหลังมีโอกาสออกมาแย่กว่าครึ่งปีแรกทั้งจากการตั้งสำรองที่สูง และความจำเป็นต้องช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเพราะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยยังชะลอตัว จึงเป็นไปได้สูงที่ยังเห็นหนี้เสียไหลลงมาต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาโอกาสลงทุน จากสถิติพบว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะปรับตัวขึ้นก่อนช่วงที่การขยายตัวของเศรษฐกิจหรือหนี้เสียลงไปจุดต่ำสุดราว 3-4 ไตรมาส ดังนั้นในครั้งนี้จึงมีโอกาสสูงที่หุ้นธนาคารจะฟื้นตัวขึ้นก่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารไทยมีความแข็งแกร่งในแง่ฐานทุนที่ค่อนข้างสูง มีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 15-16% สามารถรับมือกับ NPL ได้สูงถึง 30% ต่อปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันหุ้นกลุ่มธนาคารซื้อขายอยู่ที่ 0.5-0.6 เท่าของมูลค่าทางบัญชี (P/BV) เท่านั้น ดังนั้นราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไปแล้ว และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นกว่ากำไรจะฟื้นตัวยังต้องใช้เวลาดังนั้นการลงทุนหุ้นธนาคารต้องเป็นระยะยาว จึงจะเหมาะสมกับการเข้าซื้อที่ระดับราคาปัจจุบัน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย.) ปรับเพิ่มขึ้น 4% อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนก่อน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐ และการไหลเข้าของเงินทุน

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ช่วงไตรมาส 2 เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่น การไหลออกของเงินลงทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงการระบาดโควิด-19 รอบ 2 โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือหุ้นอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหุ้นแบงก์ยังเป็นกลุ่มที่ไม่น่าสนใจที่สุด

“แนวโน้มไตรมาส 3-4 ปีนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ประกอบกับความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหลังคลายล็อกดาวน์ ซึ่งอาจจะไม่ได้กลับมา 100% เหมือนเดิม นอกจากนี้ความเสี่ยงจากปัจจัยการว่างงานสูงที่ระดับ 7-8 ล้านคน จะสะท้อนไปสู่ศักยภาพในการชำระหนี้ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์”

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจยังไม่เห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามา แต่คาดหวังว่าเม็ดเงินในประเทศที่หลบภัยอยู่ในรูปแบบกระแสเงินสด (cash flow) หรือกองทุนรวมตลาดเงิน (MMF) จะโยกกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย ดังนั้นอาจจะเห็นการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นและน่าจะหนุนให้ SET Index ขึ้นไปยืนอยู่ระดับ 1,450 จุดได้

 

หุ้นธนาคาร กำไรลดลง 2563