ธนาคารรัฐ-เอกชน แห่อุ้มลูกหนี้รายย่อย-ออกมาตรการเฟส 2

ธนาคารรัฐ-เอกชน แห่อุ้มลูกหนี้รายย่อย-ออกมาตรการเฟส 2

ธนาคารรัฐบาล ธนาคารพาณิชย์ และน็อนแบงก์ แห่ออกมาตรการอุ้มลูกหนี้รายย่อย เฟส 2 ขานรับนโยบายของแบงก์ชาติ

ธนาคารพาณิชย์-แบงก์รัฐ-น็อนแบงก์ ทยอยประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 เพิ่มเติม ปรับดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต-บุคคลทั้งเพดานเป็นการทั่วไป ลดค่างวด-ขยายเทอมชำระหนี้สูงสุดนาน 90 เดือน หวังต่อลมหายใจลูกค้า

ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 จะเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) เริ่มทยอยประกาศออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามนโยบาย ธปท.

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือหลักๆ จะเป็นการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 16% จาก 18% และสินเชื่อส่วนบุคคลเหลือ 25% จาก 28% รวมถึงขยายเวลาการพักชำระหนี้และยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

โดยมาตรการระยะที่ 2 สำหรับลูกค้าสินเชื่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในส่วนของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยพักชำระหนี้เงินต้น สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน พักชำระหนี้เงินผ่อนชำระค่างวดสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวดสูงสุดไม่เกิน 30% และเปลี่ยนจากวงเงินหมุนเวียนเป็นผ่อนชำระค่างวดสูงสุดไม่เกิน 48 เดือน (สินเชื่อส่วนบุคคล)

ด้านบริษัทกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องภายหลังจากมาตรการระยะที่ 1 ทยอยครบกำหนด โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และยืดระยะเวลาชำระหนี้ ให้เงินเพิ่มเติม โดยให้ผ่อนยาวสุดเป็น 90 งวด คิดอัตราดอกเบี้ย 12%

ธนาคารกรุงเทพ

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 2 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยครอบคลุมลูกค้าบัตรเครดิต ลูกค้าสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยเน้นการปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป การเพิ่มวงเงินและมาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติม เช่น การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ การเปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การลดค่างวด การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น เป็นต้น

สำหรับบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 16% สินเชื่อส่วนบุคคลเหลือ 25% และขยายวงเงินให้ลูกหนี้ดี ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน เป็น 2 เท่าเป็นการชั่วคราว และขยายมาตรการขั้นต่ำ เช่น เปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นเทอมโลน 48 งวด โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% และยังมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ โดยพิจารณาเป็นรายกรณี สำหรับสินเชื่อบ้าน พักหนี้ได้ 3 เดือน และสามารถเลือกลดค่างวด โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้

ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 บนหน้าเว็บไซต์ธนาคาร โดยปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 16% บัตรเงินด่วน สินเชื่อเงินด่วน เหลือ 25% จาก 28% สินเชื่อรถ 24% จาก 28% ขณะเดียวกัน ลูกค้าสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต บัตรเงินด่วน สามารถพักหนี้เงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ยได้ต่อยาวถึง 6 เดือน หรือเลือกเปลี่ยนเป็นผ่อนชำระ 48 เดือนดอกเบี้ย 12 เดือน หรือลดค่างวด3% เป็นเวลา 6 รอบบิล ดอกเบี้ย 22%

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย และลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.1% เป็นเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวด 50% เป็นเวลา 3 เดือน และพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ขณะที่สินเชื่อรถ ลดค่างวด 30% ของค่างวดเดิม ตลอดอายุสัญญา อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% สินเชื่อรถช่วยได้ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 เดือน และขยายเวลาผ่อนชำระอีก 3 เดือน หรือลดค่างวดลง 50% ของค่างวดเดิม เป็นเวลา 6และขยายเวลาผ่อนชำระอีก 3 เดือน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ออกสินเชื่ออเนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกัน ลดค่างวด 30% ของค่างวดเดิม ระยะเวลา 6 เดือน ไม่ขยายระยะเวลาและนำไปชำระในงวดสุดท้าย สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย-อเนกประสงค์แบบมีหลักประกัน พักชำระเงินต้นและกำไร 3 เดือน โดยไม่ขยายระยะเวลาและให้นำไปชำระในงวดสุดท้าย

นอกจากนี้ลูกหนี้ยังสามารถเลือกพักชำระเงินต้น (ชำระเฉพาะกำไร) 3 เดือน โดยไม่ขยายระยะเวลาและปรับลดอัตรากำไรในระยะเวลาที่พักชำระหนี้ลง 0.25% เฉพาะบัญชีสินเชื่อที่อยู่ในช่วงการชำระค่างวดด้วยอัตรากำไรอ้างอิง SPRL และพักชำระเงินต้น (ชำระเฉพาะกำไร) ไม่เกิน 6 เดือน โดยให้ขยายระยะเวลาไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ ส่วนสินเชื่อรถยนต์พักชำระเงินต้นและกำไร 3 เดือน และขยายระยะเวลา 3 เดือน และขยายระยะเวลาหนี้ 6 เดือน และเฉลี่ยค่างวดใหม่ตามระยะเวลา

บัตรเคทีซี

ส่วนบริษัท บัตรกรุงไทย หรือ KTC ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 สำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC และบัตรกดเงินสด KTC PROUD โดยลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ และเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว ดอกเบี้ย 12% ต่อปี นาน 48 เดือน หรือ ผ่อนผันการชำระหนี้บัตรกดเงินสด เป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว ดอกเบี้ย 22% ต่อปี นาน 48 เดือน

ขณะที่สมาชิกสินเชื่ออเนกประสงค์ KTC CASH และสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ KTC พี่เบิ้ม ลดค่างวด 30% และอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี เป็นเวลา 6 รอบบัญชีหรืองวด