หวั่น “ผิดนัดชำระหนี้” พุ่ง กนง.จี้รัฐรับมือ-เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก

ธปท.

แบงก์ชาติเผยแพร่รายงานการประชุมกนง.ล่าสุด ชี้เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวเกินคาด หวั่นผิดนัดชำระหนี้พุ่ง ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน แถมตราสารหนี้เอกชนมีโอกาสถูกปรับลดเครดิตต่ำกว่าระดับการลงทุน จี้รัฐรับมือความเสี่ยง เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ขยายบทบาท AMC

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2563 ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ได้หารือถึงเสถียรภาพระบบการเงินไทยที่เปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวมากกว่าคาดจากผลกระทบของสถานการณ์COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลให้ 1) ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับตัวรุนแรง 2) เกิดการผิดนัดช่าระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนในหลายประเทศรวมถึงไทย และ 3) ตราสารหนี้ภาคเอกชน บางกลุ่มมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นต่ำกว่าระดับลงทุนได้ (non-investment grade)

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้เตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อลูกหนี้ภาคครัวเรือนและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อกลุ่มแรก ๆ ทยอยสิ้นสุดลง โดยการกำหนดแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมควรคำนึงถึงความแตกต่างของครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีศักยภาพในการฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งจะเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก COVID-19 ได้ โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 และเร่งด่าเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกแก่ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินที่จะเพิ่มขึ้น หากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาดมาก เช่น สร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditor) มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ขยายบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset management company: AMC) ในการแยกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบการเงินออกไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม