กนง. กำชับ แบงก์ชาติ ติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิด-เตรียมมาตรการเพิ่มเติม

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

กนง. กำชับ ธปท. ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการดูแลเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2563 ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

คณะกรรมการฯ มองว่าในระยะข้างหน้าตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนตามการระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป ตลอดจนประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ช่วงที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก สอดคล้องกับ risk-on sentiments และส่วนหนึ่งจากแรงขายดอลลาร์ ที่ได้จากการส่งออกทองคำหลังราคาปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินสกุลภูมิภาค ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) จึงปรับเพิ่มขึ้น

โดย กนง.ประเมินว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะขยายตัวต่ำกว่าคาด จาก 4 ปัจจัยหลัก

1) การระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง

2) ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลก จากความเสี่ยงที่ภาคเอกชนและรัฐบาลของบางประเทศ มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นหรืออาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

3) การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้น

4) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความตึงเครียดระหว่างจีนและฮ่องกง

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่แนวโน้มการฟื้นตัวในอนาคตยังไม่แน่นอนอยู่มากและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ โอกาสและความรุนแรงของการระบาดระลอกสอง ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จและทั่วถึง และประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีนัยส่าคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่นโยบายการเงินการคลังทั่วโลกที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมต่อเนื่อง สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น (risk-on sentiment) สะท้อนจากราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น แม้มีความกังวลว่า การประเมินความเสี่ยงในตลาดการเงินอาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และผลประกอบการของภาคธุรกิจที่จะลดลงมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปรับฐานราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงิน (marketcorrection) ในระยะต่อไป

กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) เริ่มมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้ดีและมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจน้อยกว่าภูมิภาคอื่น

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อน เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลง ด้านอัตราผลตอบแทน

พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตามข้อมูลเศรษฐกิจ สถานการณ์การระบาด และความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน

คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดระลอกสองในหลายประเทศ สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตและต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงของตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 ซึ่งมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น non-investment grade


สำหรับการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านสถาบันการเงิน สินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเพื่อทดแทนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ที่ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องของระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น