“ซีพี” เชื่อมโยงความยั่งยืน จากผืนพสุธา สู่มหาสมุทร

โลกยุคปัจจุบัน การบริหารทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องช่วยกันกอบกู้ในส่วนที่เสื่อมโทรม และเยียวยาให้กลับคืนมาด้วย ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มความตระหนักในด้านการฟื้นฟู ดูแล และแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ผลักภาระเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยผ่านการเห็นพ้องต้องกันอย่างรอบด้าน

ยิ่งเฉพาะทรัพยากรทางทะเล ต้องมีความร่วมมือร่วมใจกันตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับนโยบาย เช่นเดียวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์, กรมประมง, กองทัพเรือ และชาวบ้านในพื้นที่ ในการวางปะการังเทียมเพื่อเพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่ริมชายฝั่งอ่าวไทย

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการวางแผนนโยบายความยั่งยืนเป็นระยะยาว 5-10 ปี ซึ่งเน้นด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเน้นเรื่องการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส โดยมีแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ ที่พร้อมจะคำนึงถึงทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

“สำหรับนโยบายซีเอสอาร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีความสอดคล้องในการทำงาน 3 ด้านด้วยกัน คือ heart, health และ home แต่สำหรับโครงการวางปะการังเทียมเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้านชีวภาพ ความสมดุลทางทะเล และการปกป้องระบบนิเวศ เนื่องจากผ่านมาท้องทะเลไทยมีการทำประมงเกินขีดความสามารถการผลิตของทรัพยากร (over fishing) จึงทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติเสียสมดุลไป การวางปะการังเทียมเป็นการเพิ่มพื้นที่วางไข่ ทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยอนุบาลของสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ปลอดภัยจากการทำประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมในท้องที่ เพื่อผสมผสานไอเดียจากความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง”

“แม้ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์จะผันไปซื้อเศษปลาจากโรงงาน ซึ่งเป็นผลิตผลพลอยได้ (by product) โดยมิได้รับซื้อปลาป่นจากผู้ประกอบการประมง แต่ในแง่การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมทางภาคพื้นทะเล เรามีส่วนที่ขับเคลื่อนมาก ดังนั้น หากเราบอกว่าไปซื้อปลาป่น by product ที่มีการรับรองตามกฎหมายแล้วจบ ก็จะเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว และไม่เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

“ในแง่สิ่งแวดล้อม ทุกคนมีส่วนร่วมหมด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์แม้จะมีส่วนน้อย แต่ถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ และการลงมือทำ เพื่อให้เกิดความรู้แก่ทุกภาคฝ่าย เราทราบดีว่าไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการทำลายธรรมชาติ แต่ด้วยภาวะจำเป็นทางภาคเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต ทำให้ทุกคนต้องทำ ผลกระทบเหล่านี้เราจึงต้องร่วมกันเรียนรู้ และแก้ไข”

สำหรับการวางปะการังเทียม ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา จำนวน 500 แท่ง และถัดไปจะดำเนินการอีก 3 แห่ง ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี, อ.สทิงพระ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.นราธิวาส รวมทั้งสิ้น 2,000 แท่ง ระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปี

นอกเหนือจากการวางปะการังเทียม จะมีการทำวิจัย ดูปริมาณปลาว่าเพิ่มจำนวนขึ้นหรือไม่ ประชาชนในพื้นที่มีรายได้สามารถต่อยอดสร้างรายได้ รวมทั้งระบบนิเวศในพื้นที่มีความสมบูรณ์ หรือส่งผลกระทบหรือไม่ พร้อมกันนั้น ยังจะนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยวิถีชาวประมงด้วย เช่น นวัตกรรมปะการังเทียม การใช้สัญญาณมือถือเพื่อตรวจสอบการเข้าฝั่งที่โปร่งใส เป็นต้น

“นพพร นิลพงศ์” ประธานกลุ่มธนาคารสัตว์น้ำชุมชน ประมงพื้นบ้าน (ธนาคารปู) บ้านเลค่าย ตำบลระวะ อำเภอระโนด จ.สงขลา บอกว่าชาวประมงพื้นบ้านมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทะเล 100% แต่วันทำงานไม่ถึง 150 วัน/ปี ทำให้ตระหนักว่า หากไม่มีทรัพยากรทางทะเล วิถีชีวิต หรือแม้แต่อนาคตของลูกหลานก็จะดับสูญไปด้วย พวกเราจึงรวมกลุ่มกันก่อตั้งธนาคารปู ดำเนินการร่วมกันกับทีมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

“ตลอดช่วง 10 ปีผ่านมา ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงไปถึง 90% จากจำนวน 500 ตัว/ครั้ง เหลือเพียง 50 ตัว/ครั้ง เท่านั้น ที่ผ่านมาเราขาดความรู้ในด้านการอนุรักษ์ เพราะใช้แต่ภูมิปัญญาในการล่าเท่านั้น แม้จะมีหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาพูดคุยอยู่บ้าง แต่ขาดความต่อเนื่อง จนกระทั่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดยทีมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาพูดคุยถึงแนวทางด้านการอนุรักษ์ และทำธนาคารปู ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่ชุมชนเกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช”

“และต่อมาราวเดือนธันวาคม 2559 ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) แนะนำให้มีการจัดตั้งกลุ่มให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมประมง พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การดำเนินการธนาคารปู กระทั่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก ป.ทรัพย์อนันต์ ได้แก่ เครื่องผลิตออกซิเจน 1 เครื่อง และถังฟักลูกปู จำนวน 20 ถัง จึงทำให้ธนาคารปูสามารถดำเนินกิจกรรมได้ในช่วงเดือนมกราคม 2560 และปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 60 คน แต่ละวันมีสมาชิกนำปูที่มีไข่มาฝากประมาณ 2-3 ตัว/วัน”

“ปูแต่ละตัวมีไข่เฉลี่ย 9 แสนฟอง หรือสูงสุดถึง 2 ล้านฟอง เมื่อแม่ปูวางไข่ในถัง สมาชิกจะนำไข่อายุ 1-10 วันหรือเรียกว่าระยะซูเอี้ย (zoea) ไปปล่อยลงสู่ทะเล เพียงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่เริ่มดำเนินการพบว่าชาวประมงสามารถจับปูได้ปริมาณเพิ่มขึ้น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางของทางธนาคารปูได้ผลประจักษ์ ซึ่งในอนาคตมีแผนจะขยายผลไปสู่การทำ 1 ตำบล 1 ธนาคารปู เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และร่วมกันเพิ่มปริมาณปูม้าคืนสู่ท้องทะเลให้ได้มากที่สุด”

อันเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคืนแผ่นดินและแผ่นฟ้าอย่างแท้จริง