“เฟซบุ๊ก” ผนึก “คีนันฯ” ช่วยธุรกิจรายย่อยบนออนไลน์

มูลนิธิคีนันฯ

หลังจากเปิดตัวโครงการ Boost with Facebook ขึ้นเมื่อปี 2562 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Facebook ประเทศไทย และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นช่องทางเชื่อมโยงกับลูกค้า และสร้างการเติบโตของธุรกิจบนช่องทางออนไลน์

เมื่อไม่นานที่ผ่านมา Facebook จัดงานเสวนาออนไลน์ “Leading with Inclusion” ขึ้น เพื่ออัพเดตความคืบหน้าโครงการพร้อมกับประกาศมุ่งดำเนินงานระยะ 2 ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยฟื้นฟูจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

“เบธ แอน ลิม” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายโครงการเพื่อชุมชน ประจำ Facebook เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบัน Facebook มีกลุ่มผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายย่อยบนแพลตฟอร์มมากกว่า 200 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งทุกรายสามารถเข้าถึงเครื่องมือ Facebook ฟรี สำหรับประเทศไทยพบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง ส่วนหนึ่งเพราะยึดติดกับการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่เน้นให้ลูกค้าเดินเข้าไปหาหน้าร้าน หรือยังมีทักษะดิจิทัลไม่มากพอ

“แต่ท่ามกลางสภาวะสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 เข้ามา การใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือทำตลาดจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก”

“ดังนั้น โครงการ Boost with Facebook จึงเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่ออบรมทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการ มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับการสร้างบัญชีธุรกิจบน Facebook และ instagram ตลอดจนถึงวิธีการใช้เครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์คอนเทนต์ และการเพิ่มฐานผู้ติดตามโดยใช้ข้อมูลเชิงลึก”

“Boost with Facebook ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์เรื่อง diversity (ความหลากหลาย) และ inclusion (การมีส่วนร่วม) ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับคนที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมกับสังคมทุกภาคส่วน”

“โดยร่วมมือกับมูลนิธิคีนันฯให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมกับความร่วมมือกับภาคชุมชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQI) กลุ่มผู้พิการ รวมถึงชนกลุ่มน้อย ดังนั้น นับตั้งแต่เปิดโครงการมีการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการไทยแล้วกว่า 4,500 ราย ผ่านการจัดฝึกอบรมแบบออฟไลน์แล้วทั้งสิ้น 19 ครั้งและในรูปแบบออนไลน์ 27 ครั้ง”

“ทั้งยังเข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยหลากหลายกลุ่มมากกว่า 2,183 ราย โดย 38% มาจากกลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มประชากรเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) 28%, กลุ่มผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย 20%, วิสาหกิจชุมชน 20%, กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 18%, กลุ่มผู้ว่างงาน 7% และกลุ่มผู้สูงอายุ 5%”

“เบธ แอน ลิม” กล่าวต่อว่า จากจำนวนผู้เข้าอบรมแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการไทยเริ่มเห็นความสำคัญกับการใช้ออนไลน์ดำเนินธุรกิจมากขึ้น ยกตัวอย่าง ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่ประสบความสำเร็จจากการอบรมใช้ดิจิทัล และยึดถือแนวทางของความหลากหลาย และการสร้างการมีส่วนร่วมมาปรับใช้ คือ ธุรกิจ La’Poon Organic ที่ก่อตั้งขึ้นในจังหวัดลำพูน ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก “อรุณี พร้อมชัย” ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสมุนไพรออร์แกนิก ด้วยการใช้ภูมิปัญญาไทย และสมุนไพรท้องถิ่น

“หลังจากเธอเริ่มนำเสนอสินค้าบน Facebook ปัจจุบันมียอดติดตามถึง 135,883 คน ทำให้ธุรกิจของเธอเติบโตขึ้น 15% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และปัจจุบันเธอจ้างพนักงานทั้งหมด 11 คน ทั้งยังมีบทบาทในการสนับสนุนชุมชนของเธอในการร่วมทำสมุนไพรออร์แกนิกด้วย”

“ทั้งยังช่วยให้เธอเชื่อมต่อกับชุมชนใหม่ ๆ ได้อีกด้วย โดยล่าสุดได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกจากธุรกิจค้าปลีกในประเทศเมียนมา จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นว่าวิสัยทัศน์ของ Facebook สามารถแปลงมาเป็น action plan เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และระยะต่อจากนี้เรามุ่งหวังจะขยายการดำเนินงานสู่ชุมชนอื่น ๆ มากกว่านี้ พร้อมกับนำเสนอคู่มือการพลิกฟื้นธุรกิจภายหลังวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นที่นอกเหนือจากทักษะดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งพื้นฐาน แต่จะลงลึกไปสู่การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจได้ระยะยาว”

อันจะไปสอดคล้องกับแนวคิดของ “ปิยะบุตร ชลวิจารณ์” ประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียที่กล่าวว่า มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียร่วมมือกับ Facebook เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมและผู้ประกอบการชาวไทย ให้มีความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้สามารถเข้าสู่ตลาดแข่งขันอีคอมเมิร์ซได้ เพราะปัจจุบันนับเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงยาก ซึ่งผลดำเนินการอบรม 2 ปีที่ผ่านมาเราจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะกับกลุ่มเป้าหมาย 4 เรื่อง ประกอบด้วย

หนึ่ง หลักสูตรพื้นฐานที่มุ่งเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านตลาดดิจิทัล

สอง การสร้างบัญชีธุรกิจบน Facebook และ Instagram

สาม การใช้เครื่องมือเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาและเพิ่มจำนวนผู้ชม

สี่ การใช้ข้อมูลเชิงลึกวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค

“ปีที่ผ่านมามูลนิธิคีนันฯพยายามเข้าถึงกลุ่มพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ รวมถึงจัดอบรมให้ครอบคลุมถึงเครือข่ายผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐประชาสังคม และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจทำตลาดออนไลน์แต่ขาดทุนทรัพย์”

“ตรงนี้มูลนิธิคีนันฯเริ่มจากสำรวจว่าผู้ประกอบการที่จะหันมาใช้ออนไลน์ดำเนินธุรกิจความต้องการข้อมูลอะไรบ้าง อยากเสริมสร้างทักษะด้านไหนบ้าง หลายคนอยากรู้ว่าจะทำหน้าเพจอย่างไร จัดการเพจธุรกิจอย่างไร เพิ่มข้อมูลผู้เข้าชมอย่างไร แล้วแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น อินสตาแกรม หรือข้อมูลอื่น ๆ ใช้อย่างไร เมื่อแพลตฟอร์มเป็นรูปเป็นร่างแล้วจึงช่วยในเรื่องการสร้างสรรค์คอนเทนต์”

“ตลอดการดำเนินงานระยะแรกนั้น ผมมองเห็นถึงการเติบโตของผู้ที่เข้าร่วมโครงการจากคะแนนหลังการฝึกอบรมของพวกเขา และการนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานจริง สิ่งที่สำคัญคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยจำนวนมากมีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล พวกเขาเพียงต้องการโอกาสในการเรียนรู้เท่านั้น”

“สำหรับเป้าหมายต่อไป คือ การพลิกฟื้นตัวของธุรกิจโดยเราจัดทำคู่มือเพื่อมอบให้แก่ผู้ประกอบการทุกคน ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้ดำเนินโครงการ Global Resiliency ของ Facebook และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านการจัดการภาวะวิกฤต การวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ การเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการฟื้นตัวของธุรกิจ เพื่อแบ่งปันกลยุทธ์และสิ่งที่ควรพิจารณาที่สามารถนำมาใช้ได้กับการดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย”

“ปิยะบุตร” กล่าวต่อว่า คู่มือดังกล่าวมูลนิธิคีนันฯเป็นผู้แปลและออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการทบทวนการดำเนินกิจการของตน และสามารถประเมินการปฏิบัติงานของตนได้

“โดยใช้วิธีเช็กลิสต์ 4 ด้าน คือ บุคลากร (people) ให้การสนับสนุนและสร้างความผูกพันกับบุคลากร, กระบวนการ (process) ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนไปของการดำเนินธุรกิจ, ลูกค้า (patrons) เข้าใจลูกค้าและสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชน, ผลกำไร (profits) ประเมินรูปแบบของธุรกิจและจัดการด้านการเงิน หรือเงินสดหมุนเวียนอย่างไร และการเตรียมพร้อม (prepare) เข้าใจถึงความเสี่ยงและเตรียมรับมือต่อความท้าทายเชิงธุรกิจ”

“มานพ เอี่ยมสะอาด” รองประธานบริหาร บริษัท เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวเสริมว่า องค์กรของเราอยู่ภายใต้มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ โดยมีผู้พิการอยู่ในองค์กรมากกว่า 100 คน ส่วนใหญ่สนับสนุนพวกเขาไปทำงานด้านบริการและคอลเซ็นเตอร์กับบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้คนทั่วไปได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างมากขึ้น อย่างหลายบริษัทที่เคยมีการจ้างงานผู้พิการตามอัตราโควตา 1 ต่อ 100 แต่เมื่อบริษัทต้องปลดพนักงานทั่วไปออกเป็นหมื่น ๆ คน โอกาสของการจ้างงานคนพิการก็ยิ่งน้อยลงอีก ฉะนั้น ปัญหาสำคัญที่เรามองเห็นคือความท้าทายสำหรับชุมชนผู้พิการที่จะผันตัวเองไปประกอบอาชีพอื่น ๆ”

“บริษัทจึงสนับสนุนให้พวกเขาทำธุรกิจบนออนไลน์ พร้อมกับส่งเสริมให้เข้าอบรมในโครงการ Boost with Facebook ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เราเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น ภายในกลุ่มของเรามีสมาชิกที่เริ่มมีอาชีพส่วนตัวด้วยการหันมาขายของออนไลน์มากขึ้น บางคนก็ขายอาหารตามสั่ง ขายผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ หรือทำเป็นแพ็กเกจชุดสังฆทานขายในวันสำคัญทางศาสนา”

“ดังนั้น พอพวกเขาเริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของ Facebook จึงทำให้เขาเห็นช่องทางที่เปิดกว้างมากขึ้นจนทำให้เขามีพื้นที่แสดงออกหรือสื่อสารประสบการณ์ที่ไม่เพียงจะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า หรือมีอิสระในการหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเองมากขึ้น”

ยังทำให้สินค้าของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดออนไลน์อีกด้วย